ตัวแทนไทยย้ำกัมพูชายอมรับการปฏิบัติตามคำพิพากษาคดีพระวิหารของไทยแล้ว ซึ่งไม่เกี่ยวกับเส้นเขตแดนที่ต้องเจรจากันตามบันทึกความเข้าใจปี ๒๕๔๓

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 1, 2011 12:48 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๖.๐๐-๑๘.๐๐ น. ที่กรุงเฮก คณะดำเนินคดีของฝ่ายไทยได้เข้าชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงและนำเสนอความเห็นของฝ่ายไทยต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในการนั่งพิจารณาวันแรกของศาลเกี่ยวกับคำขอของกัมพูชาที่ยื่นเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๔ ให้ศาลสั่งมาตรการชั่วคราว (provisional measures) ในระหว่างรอพิจารณาคำขอตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี ๒๕๐๕ ซึ่งศาลจะกำหนดกระบวนการพิจารณาต่อไป โดยนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ในฐานะตัวแทน (agent) ของรัฐบาลไทย ได้กล่าวคำแถลงเป็นคนแรก โดยกล่าวเป็นภาษาฝรั่งเศส เพื่อให้ภาพรวมเกี่ยวกับนโยบายและท่าทีของไทย และบริบททางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา ตามด้วยที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของไทย ๓ คน ซึ่งกล่าวในรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นด้านกฎหมาย ตามลำดับ ดังนี้ (๑) ศาสตราจารย์อลัง เปลเล่ต์ (Alain Pellet) ซึ่งชี้แจงว่า คดีปราสาทพระวิหารไม่เกี่ยวข้องกับเส้นเขตแดน และไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกแล้ว จึงไม่มีประเด็นที่ต้องตีความอีก (๒) ศาสตราจารย์เจมส์ ครอว์ฟอร์ด (James Crawford) ชี้แจงในประเด็นเรื่องเขตอำนาจของศาลว่า คำขอของกัมพูชาทั้งที่เกี่ยวกับการตีความและการออกมาตรการชั่วคราวอยู่นอกเขตอำนาจของศาล และ (๓) ศาสตราจารย์โดนัลด์ เอ็ม แม็คเรย์ (Donald M. McRae) วิเคราะห์เกี่ยวกับคำขอมาตรการชั่วคราวของกัมพูชาว่า ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนและไม่มีความสมดุล อีกทั้งมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการส่งคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียมายังบริเวณชายแดนฝั่งไทย

คำกล่าวของเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

๑. ประเทศไทยในฐานะสมาชิกของสหประชาชาติได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกอย่างครบถ้วนแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ แม้ว่าจะไม่เห็นด้วย และแม้คำพิพากษาดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่เจ็บปวดและยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมไทย

๒. คำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารเมื่อปี ๒๕๐๕ เป็นเรื่องของอธิปไตยเหนือตัวปราสาท ไม่ใช่เรื่องเส้นเขตแดน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กัมพูชาได้ยอมรับเส้นขอบเขตของพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๕ เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว โดยนิ่งเฉยมิได้มีการทักท้วงใด ๆ มากว่า ๔๐ ปี จนเมื่อไม่นานมานี้กัมพูชาถึงได้เปลี่ยนท่าทีเนื่องจากต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก นอกจากนี้ กัมพูชายังได้ยอมรับด้วยว่าการกำหนดเส้นเขตแดนเป็นเรื่องที่จะต้องเจรจาร่วมกันระหว่างสองฝ่าย โดยร่วมลงนามกับไทยในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๓ เพื่อดำเนินการจัดทำหลักเขตตลอดแนวชายแดน รวมถึงบริเวณปราสาทพระวิหารด้วย

๓. ประเทศไทยมีความปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกับกัมพูชาอย่างสันติ และพยายามพัฒนาความสัมพันธ์บนพื้นฐานของความร่วมมือและความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะสร้างความขัดแย้งกับกัมพูชา ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาเมื่อปี ๒๕๐๕ ไทยได้มีบทบาทสำคัญในการร่วมส่งเสริมสันติภาพในกัมพูชาจนนำไปสู่ข้อตกลงสันติภาพกรุงปารีสเมื่อปี ๒๕๓๔ สนับสนุนการรับกัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อปี ๒๕๔๒ ผลักดันส่งเสริมให้กัมพูชาเข้าร่วมในกิจกรรมของอาเซียน และดำเนินโครงการความร่วมมือในกรอบทวิภาคีและอนุภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ ความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) โดยแม้แต่หลังเกิดเหตุการณ์จลาจลที่นำไปสู่การเผาสถานเอกอัครราชทูตไทยและขโมยทรัพย์สินของบริษัทเอกชนของไทยในกรุงพนมเปญเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๔๖ ความร่วมมือและการลงทุนของไทยในกัมพูชาก็ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ นโยบายต่างประเทศของไทยยึดถือการแก้ไขข้อพิพาทด้วยวิถีทางการทูตมาโดยตลอด ซึ่งสะท้อนได้จากการที่ไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่เข้าเป็นสมาชิกองค์การสันนิบาตชาติที่ก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ และองค์การสหประชาชาติหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ อีกทั้งได้ร่วมส่งบุคลากรเข้าร่วมในภารกิจรักษาสันติภาพต่าง ๆ ใน ๒๑ ประเทศ ซึ่งรวมถึงในกัมพูชาระหว่างปี ๒๕๓๔-๒๕๓๖ ด้วย ไทยจึงไม่มีเหตุผลที่จะกระทำการใด ๆ ที่ขัดต่อหลักการที่ได้ยึดปฏิบัติมาดังกล่าว

๔. ประเทศไทยไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มให้เกิดการปะทะเมื่อวันที่ ๔-๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ บริเวณปราสาทพระวิหาร และเมื่อระหว่างวันที่ ๒๒ เมษายนถึง ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ บริเวณปราสาทตาเมือนและปราสาทตาควาย แต่เป็นฝ่ายถูกโจมตี จนจำเป็นต้องใช้สิทธิในการป้องกันตนเองเพื่อปกป้องอธิปไตยและพลเรือนไทยที่ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของกัมพูชาและได้รับผลกระทบ ซึ่งการป้องกันตนเองของไทยก็เป็นไปอย่างยับยั้งชั่งใจและเหมาะสมแก่เหตุตามกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ ในส่วนของเหตุการณ์บริเวณปราสาทพระวิหารนั้น มีการโจมตีโดยฝ่ายกัมพูชามาจากตัวปราสาทด้วย ซึ่งเป็นการละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการคุมครองทรัพย์สินทางวัฒนธรรมในกรณีการขัดกันด้วยอาวุธ ค.ศ. ๑๙๕๔ ที่กัมพูชาเป็นภาคี ทั้งนี้ หากพิเคราะห์จากลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว พบว่า เหตุการณ์ปะทะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์และเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่มีการวางแผนเตรียมการไว้ล่วงหน้าและสอดคล้องกับการดำเนินการอื่น ๆ ของกัมพูชาในด้านการเมือง การทูต และสื่อ

๕. กัมพูชาต้องการดินแดนที่จะใช้เป็น “พื้นที่กันชน” ในการบริหารจัดการปราสาทพระวิหารเพื่อให้กระบวนการขึ้นทะเบียนปราสาทเป็นมรดกโลกสมบูรณ์ ก่อนหน้านี้ เมื่อปี ๒๕๔๖ รัฐบาลทั้งสองฝ่ายเคยตกลงจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระดับรัฐมนตรีเพื่อพัฒนาพื้นที่ปราสาทพระวิหารร่วมกัน ซึ่งได้มีการหารือกันเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารร่วมกัน แต่เมื่อปี ๒๕๔๗ กัมพูชากลับไปยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียวโดยไม่ได้แจ้งให้ไทยทราบ อีกทั้งได้ออกพระราชกฤษฎีกาเมื่อปี ๒๕๔๙ กำหนดขอบเขตของปราสาท ซึ่งล้ำเข้ามาในดินแดนไทย ขณะที่ในพื้นที่ ฝ่ายกัมพูชาก็ได้รุกล้ำเข้ามาโดยการสร้างถนน วัด และชุมชน ซึ่งนอกจากจะละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทยแล้ว ยังละเมิดบันทึกความเข้าใจฯ ปี ๒๕๔๓ ด้วย ไทยได้พยายามเจรจาแก้ไขปัญหาเหล่านี้หลายครั้งแต่ไม่ประสบผล และไทยก็ได้ประท้วงการกระทำดังกล่าวของกัมพูชามาโดยตลอด

ปราสาทพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี ๒๕๕๑ ซึ่งจำกัดเฉพาะตัวปราสาท และกัมพูชามีพันธกรณีที่จะต้องเสนอแผนบริหารจัดการให้คณะกรรมการมรดกโลกเห็นชอบ อย่างไรก็ดี ตลอดกว่า ๒ ปีที่ผ่านมา กัมพูชายังไม่ประสบความสำเร็จในการผลักดันเรื่องนี้ เพราะไทยไม่สามารถยอมรับแผนบริหารจัดการที่กระทบสิทธิเหนือดินแดนของไทยได้ และโดยที่ดินแดนไทยส่วนที่กัมพูชาอ้างสิทธิเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกให้สำเร็จและสมบูรณ์ ซึ่งทั้งสองประเทศก็ทราบดี และนั่นคือเหตุผลที่ไทยได้เสนอให้มีการขึ้นทะเบียนร่วมหลายครั้ง แต่กัมพูชาปฏิเสธมาโดยตลอด

สำหรับประเด็นสำคัญของคำกล่าวของที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของไทยทั้งสามท่านต่อศาลโลกนั้น จะได้เผยแพร่ให้ทราบต่อไป

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ