เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๗.๓๐-๑๘.๐๐ น. นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัทพ์จากกรุงเฮกต่อผู้สื่อข่าวทางสถานีวิทยุ (FM ๙๒.๕) กรณีกัมพูชายื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ให้ออกมาตรการชั่วคราวระหว่างรอการพิจารณาตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
ในการนั่งพิจารณาต่อศาลโลกเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ฝ่ายกัมพูชาชี้แจงต่อศาลเป็นเวลา ๒ ชั่วโมง โดยขยายความจากหนังสือที่ฝ่ายกัมพูชามีถึงศาลโลกเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๔ ขอให้ศาลมีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราวซึ่งระบุให้ไทยต้องถอนทหารจากพื้นที่พิพาท ๔.๖ ตารางกิโลเมตร เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่ ๑:๒๐๐,๐๐๐ และในวันนี้ (๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔) ฝ่ายกัมพูชาก็ได้ย้ำในประเด็นเดียวกันนี้ โดยใช้เวลา ๑ ชั่วโมง
สำหรับการชี้แจงของฝ่ายไทยนั้น ตัวแทนและที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของไทยตอบข้อเสนอของฝ่ายกัมพูชาใน ๓ ประเด็น ได้แก่ (๑) คำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารเมื่อปี ๒๕๐๕ เป็นเรื่องของอธิปไตยเหนือตัวปราสาทฯ ซึ่งศาลตัดสินให้เป็นของกัมพูชา โดยฝ่ายไทยไม่ได้โต้แย้งในเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี ศาลไม่ได้พิพากษาในเรื่องของเขตแดน (๒) ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกอย่างครบถ้วนแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ ซึ่งระบุให้ไทยถอนกองกำลังออกจากบริเวณปราสาทฯ และคืนโบราณวัตถุให้แก่กัมพูชา และ (๓) ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กัมพูชาได้ยอมรับเส้นขอบเขตของพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๕ เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าว และกัมพูชามิได้มีการทักท้วงใด ๆ เป็นเวลามากกว่า ๔๐ ปี จนเมื่อไม่นานมานี้กัมพูชาได้เปลี่ยนท่าทีเนื่องจากต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว
รัฐมนตรีว่าการฯ อธิบายเพิ่มเติมว่า ฝ่ายไทยเห็นว่าศาลโลกไม่มีเขตอำนาจที่จะออกมาตรการชั่วคราวตามที่ฝ่ายกัมพูชาขอ เนื่องจากหากศาลมีคำตัดสินให้มีการถอนทหาร โดยนำแผนที่ระวางดงรักมาเป็นเอกสารประกอบการพิพากษาแล้ว ก็เท่าว่าเป็นการตัดสินในเรื่องเขตแดนซึ่งอยู่นอกเหนือเขตอำนาจของศาลในคดีนี้ อีกทั้งแผนที่ ๑:๒๐๐,๐๐๐ เป็นเพียงเอกสารประกอบหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินคดีเกี่ยวกับปราสาทฯ เท่านั้น
ต่อคำถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับเส้นขอบเขตของพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีปี ๒๕๐๕ รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ในการชี้แจงต่อศาลโลก ฝ่ายไทยได้แสดงภาพรั้วที่ล้อมรอบปราสาทฯ และป้ายที่ระบุว่าอาณาเขตของปราสาทพระวิหารอยู่ภายในบริเวณรั้วและป้ายดังกล่าว ทั้งนี้ ตำแหน่งของรั้วดังกล่าวอาจมีการขยับไปบ้างจากสงครามที่เกิดขึ้นในอดีต และเวลาที่ผ่านมานานกว่า ๕๐ ปี
ต่อคำถามที่ว่าจะมีประเทศใดให้การสนับสนุนกัมพูชาหรือไม่นั้น รัฐมนตรีว่าการฯ ตอบว่า ปัจจุบันเป็นยุคของ
โลกาภิวัตน์ ทุกประเทศควรอยู่กันอย่างสันติและมีผลประโยชน์เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ดังนั้น คงไม่มีประเทศใดให้การสนับสนุนประเทศอื่นเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ในส่วนของคณะผู้พิพากษาในศาลโลก มีทั้งหมด ๑๕ คนมาจากทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา อีกทั้งยังมีผู้พิพากษาเฉพาะกิจอีก ๒ ท่าน จึงต้องเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพ (professionalism) ของผู้พิพากษาเหล่านี้ รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวต่อไปว่า ฝ่ายไทยได้เตรียมการในเรื่องนี้มาอย่างดีกว่า ๒ ปี และได้พบหารือร่วมกับที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศกว่า ๑๐ ครั้ง โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงนำที่ปรึกษาฯ เดินทางไปบริเวณพิพาท เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเขตแดนทั้งทางบกและทะเลอีกด้วย สำหรับผลของการพิพากษาของศาลโลก คงต้องพิจารณาก่อนว่าศาลมีอำนาจในการออกมาตรการชั่วคราวหรือไม่ ซึ่งหากศาลพิจารณาให้มีมาตรการชั่วคราวและมีการถอนทหารก็ต้องเป็นการบังคับใช้มาตรการกับทั้งสองฝ่าย โดยในการให้ข้อมูลต่อศาลโลกในครั้งนี้ ฝ่ายไทยก็ได้ชี้แจงเกี่ยวกับแผนที่ หลักสันปันน้ำ สนธิสัญญาและอนุสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ตลอดจนบันทึกความเข้าใจฯ ปี ๒๕๔๓
รัฐมนตรีว่าการฯ คาดว่าจะทราบผลการพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการชั่วคราวภายใน ๓ สัปดาห์นี้ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงปลายเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔ โดยฝ่ายไทยมีกำหนดให้การต่อศาลโลกอีกครั้งคืนนี้ (๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔) เวลา ๒๒.๐๐ น. (เวลาไทย) โดยจะใช้เวลา ๑ ชั่วโมง โดยที่ปรึกษาฯ ๒ คนจะกล่าวก่อน และเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮกจะเป็นผู้กล่าวปิดท้าย ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้กำลังใจคณะผู้แทนไทยในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และได้มีการรายงานความคืบหน้าให้นายกรัฐมนตรีทราบตลอดกระบวนการ
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--