คณะผู้แทนไทยนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมและตอบโต้ประเด็นที่กัมพูชาหยิบยกในการชี้แจงต่อศาลโลกเป็นวันที่สอง

ข่าวต่างประเทศ Thursday June 2, 2011 13:18 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๖.๐๐-๑๘.๐๐ น. คณะดำเนินคดีของฝ่ายไทยได้กล่าวชี้แจงต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) เป็นวันที่สองของการนั่งพิจารณา (oral hearing) กรณีคำขอของกัมพูชาให้ศาลโลกมีคำสั่งมาตรการชั่วคราวให้ไทยถอนทหารออกจากบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งในโอกาสดังกล่าว คณะฝ่ายไทยได้เสนอข้อมูลข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพื่อตอบโต้ประเด็นที่ฝ่ายกัมพูชากล่าวหาไทย รวมถึงประเด็นที่กัมพูชาหยิบยกในช่วงการกล่าวคำแถลงในช่วงสองวันที่ผ่านมา เริ่มจากศาสตราจารย์อลัง เปลเล่ต์ (Alain Pellet) ตามด้วยศาสตราจารย์เจมส์ ครอว์ฟอร์ด (James Crawford) โดยนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ในฐานะตัวแทน (Agent) ของประเทศไทย กล่าวเป็นลำดับสุดท้าย สรุปประเด็นสำคัญในคำกล่าวของคณะฝ่ายไทยได้ดังนี้

๑. ศาสตราจารย์เปลเล่ต์ได้กล่าวในประเด็นด้านกฎหมายเพื่อชี้ให้เห็นว่า คำขอของกัมพูชาให้ศาลตีความคำพิพากษาอยู่นอกเขตอำนาจของศาล ดังนั้น คำขอเรื่องมาตรการชั่วคราวซึ่งเกี่ยวเนื่องกัน ก็อยู่นอกเขตอำนาจศาลเช่นกัน ทั้งนี้ ศาสตราจารย์เปลเล่ต์ได้ยกเหตุผลสนับสนุน โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า คำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี ๒๕๐๕ เน้นเฉพาะเรื่องของอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร และในครั้งนั้น ศาลได้ปฏิเสธที่จะตีความสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก ๑ และเส้นเขตแดนในพื้นที่บริเวณดังกล่าวตามที่กัมพูชาขอ โดยใช้แผนที่ประกอบเป็นเหตุผลหนึ่งในการพิพากษาเท่านั้น ดังนั้น ประเด็นเรื่องแผนที่จึงไม่อาจนำมาตีความได้ นอกจากนี้ ไทยก็ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว โดยกัมพูชาก็ยอมรับและไม่เคยประท้วง แม้แต่เมื่อครั้งที่กษัตริย์สีหนุเสด็จฯ เยือนปราสาทพระวิหารเมื่อเดือน ม.ค. ๒๕๐๖ ก็ไม่ได้ทักท้วงแนวรั้วที่ไทยจัดทำไว้ ซึ่งก็เท่ากับเป็นการยอมรับ ศาสตราจารย์เปลเล่ต์กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของความเห็นแตกต่างในเรื่องเขตแดน ไทยกับกัมพูชาก็ได้ตกลงที่จะเจรจาจัดทำหลักเขตตลอดแนวโดยลงนามในบันทึกความเข้าใจเมื่อปี ๒๕๔๓ ซึ่งสะท้อนว่าทั้งสองฝ่ายตระหนักว่าคำพิพากษาไม่ได้ตัดสินในเรื่องนี้ และก็มิได้ระบุถึงคำพิพากษาปี ๒๕๐๕ เป็นหนึ่งในเอกสารที่จะนำมาพิจารณาในการเจรจาไว้ในบันทึกความเข้าใจฯ

๒. ศาสตราจารย์ครอว์ฟอร์ดกล่าวว่า คำขอของกัมพูชาในประเด็นการตีความคำพิพากษากับประเด็นมาตรการชั่วคราวมีนัยที่ขัดกันเอง โดยเห็นว่า มาตรการชั่วคราวที่กัมพูชาขอไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของศาล การขอมาตรการชั่วคราวต้องสามารถเชื่อมโยงกับคำขอหลักในเรื่องการตีความ แต่สิ่งที่กัมพูชาขอไม่ใช่ข้อขัดแย้งในเรื่องการตีความคำพิพากษาปี ๒๕๐๕ แต่กลับเป็นการขอให้ศาลตัดสินข้อพิพาทใหม่ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตาม หรืออีกนัยหนึ่งคือ การบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา และข้อ ๖๐ ของธรรมนูญศาลไม่ได้ให้อำนาจแก่ศาลในกรณีนี้ นอกจากนี้ กัมพูชาก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างมาตรการที่ขอกับสิทธิที่มาตรการดังกล่าวจะคุ้มครอง อีกทั้งการที่กัมพูชารอมาเกือบ ๕๐ ปีก็ยิ่งลดความเชื่อมโยงดังกล่าวลงไปอีก จึงเป็นการขอให้ศาลทำเกินขอบเขตของอำนาจตามข้อ ๔๑ ของธรรมนูญศาลโลก ศาลจึงไม่ควรตอบสนองคำขอดังกล่าว

๓. ในส่วนของเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ได้ย้ำต่อศาลโลกว่า ท่าทีของประเทศไทยมีความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดย (๑) ไทยยอมรับและปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี ๒๕๐๕ อย่างครบถ้วนแล้วซึ่งกัมพูชาก็ยอมรับ (๒) ศาลโลกไม่ได้ตัดสินเกี่ยวกับเส้นเขตแดนซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องมีการกำหนดต่อไปตามกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ โดยในระหว่างที่การเจรจาเขตแดนกำลังดำเนินอยู่ภายใต้กลไกทวิภาคีที่จัดตั้งขึ้นตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตปี ๒๕๔๓ ไทยก็ได้ยึดเส้นแนวเขตตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี ๒๕๐๕ มาโดยตลอด และ (๓) การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจำเป็นต้องมีพื้นที่ในการบริหารจัดการซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในดินแดนไทย ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไทยได้แสดงความพร้อมที่จะขึ้นทะเบียนร่วมกับกัมพูชา แต่การที่กัมพูชาปฏิเสธเรื่องนี้นำไปสู่ปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียน ทั้งนี้ ไทยคัดค้านกลยุทธ์ในการสร้างความขัดแย้งเพื่อเป็นเหตุให้ศาลสั่งมาตรการชั่วคราวเพื่อให้ไทยออกจากบริเวณที่จำเป็นสำหรับกัมพูชาในการเสนอแผนบริหารจัดการให้ทันการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกในปลายเดือนมิถุนายน

เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ย้ำต่อไปว่า ไทยยึดหลักการของความจริงใจในการดำเนินความสัมพันธ์กับกัมพูชา ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของประเทศที่เท่าเทียมกันและมีชายแดนร่วมกัน ไม่ใช่ระหว่างประเทศที่เข้มแข็งกับประเทศที่อ่อนแอกว่า ดังเช่นที่กัมพูชาพยายามจะสร้างภาพ เพื่อช่วยปกปิดจุดมุ่งหมายที่แท้จริงซึ่งสะท้อนในคำปราศรัยของผู้นำกัมพูชาและการดำเนินการของกัมพูชาเพื่อให้ได้พื้นที่ที่อยู่ในดินแดนไทย แต่จำเป็นต่อการผลักดันแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารให้ได้รับการรับรองโดยคณะกรรมการมรดกโลก

ต่อข้อกล่าวหาของกัมพูชา เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ได้กล่าวตอบโต้ในประเด็นข้อเท็จจริงต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้เน้นว่า ประเทศไทยไม่ได้มีความต้องการที่จะแย่งชิงดินแดนของกัมพูชา แต่มุ่งรักษาดินแดนของไทยที่มีอยู่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ และพร้อมที่จะเจรจากับกัมพูชาในเรื่องเขตแดน ส่วนของข้อกล่าวหาที่ว่าไทยโจมตีเพื่อสร้างความเสียหายต่อปราสาทพระวิหารนั้น ข้อเท็จจริงคือกัมพูชาใช้ปราสาทพระวิหารเป็นฐานที่มั่นในการโจมตีไทยซึ่งละเมิดอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางวัฒนธรรมในกรณีการขัดกันด้วยอาวุธ ค.ศ. ๑๙๕๔ ขณะที่ไทยใช้สิทธิเพื่อป้องกันตนเองในระดับที่เหมาะสมและมุ่งเฉพาะเป้าหมายทางทหาร ส่วนการที่กัมพูชาพยายามเชื่อมโยงปัญหากับการเมืองภายในของไทยนั้น เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ย้ำว่า ไทยเป็นประเทศประชาธิปไตยและการพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอธิปไตยจะต้องได้รับการตรวจสอบโดยรัฐสภา ทั้งนี้ การเมืองของไทยไม่มีความเกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับประเด็นที่ศาลกำลังพิจารณา

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับประชาชนชาวกัมพูชาที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทพระวิหารนั้น คนเหล่านี้ไม่ได้อยู่อาศัยมานานตามที่กัมพูชาอ้าง แต่เพิ่งได้รับการย้ายเข้าไปอยู่บริเวณดังกล่าวเพื่อเป้าหมายด้านการเมืองซึ่งอยู่นอกขอบเขตของการพิจารณาของศาลในครั้งนี้ ส่วนที่กัมพูชาอ้างว่ามีความเสี่ยงที่ความขัดแย้งจะทวีความรุนแรงเพราะไทย ความจริงเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับกัมพูชาที่เป็นฝ่ายเริ่มการโจมตีมาตลอด อีกทั้งกัมพูชาก็เป็นฝ่ายขยายความขัดแย้งจากบริเวณปราสาทพระวิหารไปยังพื้นที่อื่น คือ บริเวณปราสาทตาเมือนและตาควาย ไม่ใช่ไทย การที่มีเหตุการณ์ปะทะเกิดขึ้นในบริเวณอื่นก็ไม่ควรเป็นเหตุให้ต้องเชื่อว่าจะมีเหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบที่ไม่สามารถเยียวยาได้ในบริเวณปราสาทพระวิหาร จึงไม่ควรเป็นเหตุให้ศาลต้องพิจารณามีคำสั่งมาตรการชั่วคราว

เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก กล่าวย้ำว่า ในการให้การสองฝ่ายที่ผ่านมา ฝ่ายไทยได้แสดงให้ศาลเห็นว่า ไทยกับกัมพูชาไม่มีความเห็นที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษาปี ๒๕๐๕ และคำขอของกัมพูชาให้ศาลตีความคำพิพากษาเป็นความพยายามที่จะให้ศาลตัดสินในประเด็นอื่นที่ศาลไม่ได้ตัดสินไว้เมื่อปี ๒๕๐๕ ด้วยเหตุนี้ คำขอดังกล่าวจึงอยู่นอกเขตอำนาจศาล และก็ไม่สมเหตุสมผลแต่อย่างใดที่จะมีการพิจารณาตีความ จึงขอให้ศาลยกคำร้องที่ฝ่ายกัมพูชายื่นเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๔

ในช่วงท้ายของการนั่งพิจารณา ประธานคณะผู้พิพากษาศาลโลกได้กล่าวว่า ศาลจะพิจารณามีคำสั่งเกี่ยวกับมาตรการชั่วคราวในโอกาสแรก ซึ่งจะได้แจ้งให้ตัวแทนของแต่ละประเทศต่อไป

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ