เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๔ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของฝ่ายไทยในการชี้แจงและให้ข้อมูลแก่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ ๓๐-๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ กรณีกัมพูชายื่นคำขอให้ศาลมีมาตรการชั่วคราวระหว่างรอการพิจารณาตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี ๒๕๐๕ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด กรมศิลปากร กรมแผนที่ทหาร และกองทัพบก เข้าร่วมด้วย
รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ฝ่ายไทยมีการประชุมเตรียมการกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนการให้การต่อศาลโลกก็ได้มีการหารือกับหน่วยงานและที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของไทยเมื่อวันที่ ๒๘-๒๙ พฤษภาคม เพื่อแบ่งงานและปรับถ้อยแถลงของตัวแทนและที่ปรึกษาฯ ให้มีความสอดคล้องกัน โดยนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ในฐานะตัวแทน (Agent) ของไทยเริ่มต้นกล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา แนวนโยบายของรัฐบาลต่อปัญหาเขตแดน จากนั้น ศาสตราจารย์อลัง เปลเลย์ กล่าวเกี่ยวกับเขตอำนาจของศาลในการตีความคำพิพากษา ตามด้วยศาสตราจารย์เจมส์ ครอว์ฟอร์ด ซึ่งชี้ให้เห็นว่าศาลไม่มีอำนาจในการออกมาตรการชั่วคราวในคดีนี้ ขณะที่ศาสตราจารย์โดนัลด์ เอ็ม แม็คเรย์ เสนอข้อวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ศาลไม่ควรมีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราว
เมื่อวิเคราะห์ถึงเป้าประสงค์ของฝ่ายกัมพูชาจะเห็นได้ว่า กัมพูชาต้องการให้ศาลมีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราวให้ทหารไทยถอนออกจากบริเวณปราสาทพระวิหารและบริเวณใกล้เคียงปราสาท ซึ่งหากศาลมีคำสั่งตามที่กัมพูชาขอก็จะมีนัยว่าพื้นที่ “พิพาท” ๔.๖ ตารางกิโลเมตรอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา โดยพิจารณาจากแผนที่ ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ เป็นที่ตั้ง เนื่องจากแผนที่ดังกล่าวเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ศาลพิพากษาให้ปราสาทเป็นของกัมพูชา ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง กัมพูชาก็จะสามารถนำเอาไปอ้างที่คณะกรรมการมรดกโลกได้ว่าพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาแล้ว ดังนั้น การจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่บริเวณปราสาทซึ่งเป็นขั้นตอนต่อเนื่องจากการขึ้นทะเบียนปราสาทก็สามารถดำเนินการได้
ในการชี้แจงต่อศาลโลก ฝ่ายไทยได้โต้แย้งประเด็นของกัมพูชาว่า ตามข้อ ๖๐ ของธรรมนูญศาลโลก การตีความคำพิพากษาต้องเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องจากคดีหลัก คือ คดีปราสาทพระวิหาร ปี ๒๕๐๕ ซึ่งครั้งนั้นศาลโลกตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา มีคำสั่งให้ไทยต้องถอนกองกำลังออกจากพื้นที่ปราสาท และคืนโบราณวัตถุให้กัมพูชา ซึ่งฝ่ายไทยได้ดำเนินการแล้ว โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ให้ทำรั้วรอบปราสาท เพื่อเป็นการบ่งบอกประชาคมโลกถึงบริเวณรอบปราสาท ซึ่งไม่ใช่เขตแดน ดังนั้น หากศาลโลกตัดสินโดยใช้แผนที่ ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ ก็เท่ากับศาลพิจารณาในเรื่องที่เกี่ยวกับเขตแดนซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของศาล นอกจากนี้ การออกมาตรการชั่วคราวให้มีการถอนทหารจะเท่ากับเป็นการตีความล่วงหน้าเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาปี ๒๕๐๕ และเป็นการพิจารณาเรื่องของเขตแดน โดยใช้วิธีเข้าทาง “ประตูหลัง” ซึ่งเกินขอบเขตอำนาจของศาล
ในส่วนของมาตรการชั่วคราว ฝ่ายไทยยังชี้ด้วยว่า คำขอของกัมพูชาไม่เข้าเกณฑ์ สถานการณ์ปัจจุบันไม่มีความเร่งด่วนและไม่ได้อยู่ในสภาวะความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขได้ อีกทั้งการอ้างถึงเหตุการณ์บริเวณปราสาทตาเมือนและปราสาทตาควายก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกับปราสาทพระวิหาร เนื่องจากทั้งสองพื้นที่อยู่ห่างกันกว่า ๑๔๐-๑๕๐ กิโลเมตร และโดยทั่วไปตลอดชายแดนไทย-กัมพูชาก็มีความสงบ ประชาชนทั้งสองประเทศยังคงค้าขายกันเป็นปกติ ส่วนการจัดทำหลักเขตแดนระหว่างสองประเทศก็มีกลไกทวิภาคีอยู่ กล่าวคือ บันทึกความเข้าใจฯ ปี ๒๕๔๓ (MOU ปี ๒๕๔๓) และล่าสุดยังมีการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ไทย-กัมพูชา ที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซียด้วย ทั้งนี้ ไทยยืนยันความพร้อมที่จะเจรจากับกัมพูชาต่อไป
นอกจากนี้ การดำเนินการเกี่ยวกับการส่งผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย (Indonesian Observers Team—IOT) มายังชายแดนไทย-กัมพูชาก็มีความคืบหน้า โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการต่อข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ (Terms of Reference—TOR) ของคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียแล้ว โดยเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายกรัฐมนตรีไทย และนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้พูดคุยกันเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว รวมทั้งมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสามประเทศหารือกันเพิ่มเติมจนได้เป็นข้อสรุป ๓ ขั้นตอน หลังจากนั้น ในการพบปะระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทยกับกัมพูชาเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ทั้งสองฝ่ายตกลงให้มีการเจรจาในกรอบของคณะกรรมการชายแดนร่วม (GBC) ไทย-กัมพูชา เพื่อหารือเกี่ยวกับการถอนทหารออกจากปราสาทพระวิหาร วัดแก้วสิกขาคีรีสะวารา ตลาด และชุมชน ในการนี้ ฝ่ายไทยได้ขอให้อินโดนีเซียส่งคณะสำรวจ (Survey Team) มายังชายแดนไทยโดยเร็ว เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับ IOT ซึ่งโดยที่คณะสำรวจได้เดินทางไปกัมพูชาแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่จะไม่เดินทางมาไทย ทั้งหมดนี้ได้แสดงให้เห็นว่า การที่กัมพูชากล่าวหาว่ากระบวนการในกรอบต่าง ๆ ไม่คืบหน้าและไทยเป็นฝ่ายที่ทำให้การดำเนินการทุกอย่างชะงักงันนั้นไม่เป็นความจริง
รัฐมนตรีว่าการฯ ย้ำว่า ประเทศไทยปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงต่อภาพที่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ใหญ่กว่ามารังแกประเทศกัมพูชาซึ่งเป็นประเทศที่เล็กกว่าและเพิ่งได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส ไทยให้ความช่วยเหลือกัมพูชามาโดยตลอด โดยสนับสนุนให้กัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน ส่งเสริมความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคต่าง ๆ และดำเนินการโครงการเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างสันติและจริงใจ
สำหรับขั้นตอนต่อไปนั้น หลังจากตัวแทนของไทยได้กล่าวถ้อยแถลงเป็นคนสุดท้ายเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ผู้พิพากษาของศาลโลกชาวบราซิลได้มีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบต่อประชาชนจากเหตุการณ์ปะทะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งประธานของศาลโลกขอให้ฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชาส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องในประเด็นดังกล่าวให้แก่ศาลภายในวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๔ และหลังจากนั้น ศาลโลกจะได้ส่งข้อมูลของไทยและกัมพูชาให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้ทั้งสองประเทศส่งข้อวิจารณ์ให้แก่ศาลภายในวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ ซึ่งคาดว่าหลังจากนั้นอีกประมาณ ๒-๓ สัปดาห์ ศาลจะมีคำตัดสินว่าจะมีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราวหรือไม่ และหากศาลมีมาตรการชั่วคราวดังกล่าวจะมีเนื้อหาครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ทั้งนี้ เมื่อศาลมีคำสั่งแล้ว ศาลไม่มีอำนาจบังคับให้คู่กรณีปฏิบัติตาม โดยเรื่องของการบังคับให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลนั้นเป็นของอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--