สรุปประเด็นคำกล่าวของศาสตราจารย์อลัง เปลเล่ต์ ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔

ข่าวต่างประเทศ Monday June 6, 2011 15:58 —กระทรวงการต่างประเทศ

กล่าวนำ

ก. เขตอำนาจศาล ธรรมนูญศาลฯ ได้ระบุเกี่ยวกับเงื่อนไขเรื่องเขตอำนาจศาลฯ ไว้ว่า รัฐคู่กรณีต้องให้ความยินยอมรับเขตอำนาจศาล ทั้งโดยจงใจ หรือโดยเป็นการยอมรับในคดีที่เป็นผลสืบเนื่องเชื่อมโยงกับคดีหลัก (คดีตีความ เป็นคดีที่แยกออกจากคดีหลัก โดยไม่ใช่ผลสืบเนื่อง)

ข. การพิจารณาเขตอำนาจ ในการพิจารณาคดี ศาลต้องพิจารณาว่าตนมีเขตอำนาจในการตัดสิน โดยในกรณีนี้ ศาลต้องพิจารณาว่า

๑. มีความเห็นไม่ตรงกันระหว่างรัฐคู่กรณี

๒. ความเห็นที่ไม่ตรงกันดังกล่าว เกี่ยวกับเรื่องความหมายและขอบเขตของคำตัดสินที่สิ้นสุดแล้ว

ค. แนวทาง คำขอของกัมพูชาไม่ตอบเงื่อนไข ๔ ประการ ได้แก่ (๑) คำขอตีความหมาย ต้องเกี่ยวกับส่วนที่เป็นคำตัดสิน (๒) ต้องมีความเห็นที่ไม่ตรงกันอย่างแท้จริง (๓) จำเป็นสำหรับการตีความหมาย หรือประเด็นในส่วนคำตัดสิน และ (๔) ไม่ถูกนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อใช้แก้ไขสิ่งที่ศาลได้พิพากษาแล้ว

๑. คำขอตีความต้องเกี่ยวกับส่วนที่เป็นคำตัดสิน

๑.๑ คำขอตีความต้องเกี่ยวกับส่วนที่เป็นคำตัดสินเท่านั้น ซึ่งในคำตัดสินเมื่อปี ๒๕๐๕ ศาลฯ ได้ตัดสินใน ๓ ประเด็น ได้แก่

(๑) ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา

(๒) ไทยต้องถอนกำลังทหาร ตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลออกจากปราสาทฯ และในบริเวณใกล้เคียงในอาณาเขตกัมพูชา

(๓) ไทยต้องคืนวัตถุที่เจ้าหน้าที่ไทยได้โยกย้ายไปจากปราสาทพระวิหารหรือบริเวณพระวิหาร

๑.๒ คำตัดสินของศาลฯ ในข้อ (๒) และข้อ (๓) ผูกพันไทยในลักษณะทันทีเพียงครั้งเดียว กล่าวคือ ไทยต้องถอนกำลังออกจากปราสาทฯ และบริเวณใกล้เคียงปราสาทฯ ใน “อาณาเขตของกัมพูชา” (ซึ่งเข้าใจได้ว่า มีบริเวณใกล้เคียงปราสาทฯ ในอาณาเขตไทยด้วย) และต้องคืนวัตถุโบราณ ซึ่งไทยได้ดำเนินการแล้วทั้งสิ้น โดยสมบูรณ์ ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นทางกฎหมายที่จะต้องตีความในเรื่องนี้

คำขอของกัมพูชา พยายามเปลี่ยนข้อผูกพันแบบทันทีเพียงครั้งเดียวของไทยเป็นข้อผูกพันแบบต่อเนื่อง ทั้งที่ตลอดช่วงที่ผ่านมากัมพูชาก็ยอมรับว่า ไทยได้ปฏิบัติตามข้อ (๒) และ (๓) ของคำพิพากษามาโดยตลอด และไม่เคยส่งทหารกลับเข้าไปในบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้ คำขอยังมีขึ้น ๕๐ ปีหลังคำพิพากษา ดังนั้นคำขอให้ไทยถอนทหารของกัมพูชาจึงไม่ใช่คำขอตีความคำพิพากษาตามข้อ ๖๐ ของธรรมนูญศาลฯ แต่เป็นคำขอให้ศาลบังคับใช้คำพิพากษา (ในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตาม)

๑.๓ หากจะต้องมีการตีความ คำขอตีความสามารถขอได้มีเพียงคำขอเกี่ยวกับคำตัดสินในข้อ (๑) เรื่องอธิปไตยเหนือปราสาทฯ ซึ่งในเรื่องนี้ ไทยไม่โต้แย้งอธิปไตยของกัมพูชา

๒. ต้องมีความเห็นที่ไม่ตรงกันอย่างแท้จริงเกี่ยวกับความหมายของส่วนคำตัดสิน

๒.๑ คำพิพากษาที่เป็นบรรทัดฐานจำนวนมากกำหนดเงื่อนไขในคำขอตีความคำพิพากษาว่า ต้องมีความเห็นที่ไม่ตรงกันอย่างแท้จริงเกี่ยวกับความหมาย ในกรณีนี้

(ก) หากจะมีความเห็นที่แตกต่างระหว่างสองฝ่ายเกี่ยวกับข้อ (๒) และ (๓) ของคำพิพากษา ปัญหาดังกล่าว คือ เรื่องการกำเนินการตามคำพิพากษา ไม่ใช่การตีความ

(ข) สำหรับในข้อ (๑) ของคำพิพากษา ฝ่ายไทยแม้จะเห็นว่าไม่ยุติธรรม แต่ก็ได้ดำเนินการตามอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยไม่มีความเห็นที่แตกต่างในเรื่องความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา

๒.๒ เมื่อไม่มีความเห็นที่ที่แตกต่างตาม ๒.๑ ศาลก็ไม่มีอำนาจในการตีความ ดังนั้น เมื่อศาลไม่มีอำนาจในการตีความ ศาลก็ไม่มีอำนาจในการออกมาตรการชั่วคราวด้วย

๓. การตีความส่วนเหตุผลของคำพิพากษาสามารถกระทำได้ก็ต่อเมื่อจำเป็นสำหรับการตีความหมาย หรือประเด็นในส่วนคำตัดสิน

๓.๑ กัมพูชาพยายามเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของคำพิพากษาปี ๒๕๐๕ ในเรื่องอธิปไตยเหนือดินแดนที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ เป็นคำพิพากษาเรื่องการกำหนดเส้นเขตแดน

๓.๒ ไทยยอมรับว่า ปราสาทฯ อยู่ในดินแดนของกัมพูชา และศาลได้ใช้แผนที่ “ภาคผนวก ๑” ในการตัดสิน แต่ไทยไม่สามารถยอมรับได้ว่า แผนที่ภาคผนวก ๑ ได้กลายเป็นสิ่งกำหนดเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา

๓.๓ ศาลต้องตีความเฉพาะส่วนที่เป็นคำตัดสิน โดยอาจใช้เหตุผลที่จำเป็นและไม่สามารถแยกออกจากกันได้ประกอบ แต่กัมพูชาพยายามสลับตรรกะในเรื่องนี้ โดยขอให้ศาลฯ ตีความหมายของเหตุผลที่ศาลฯ ใช้ โดยใช้ประโยชน์จากส่วนคำตัดสิน ซึ่งไม่ถูกต้อง

๓.๔ ศาลฯ ได้เคยมีคำพิพากษาในเรื่องนี้ ว่า เหตุผลที่ศาลฯ ใช้ ในตัวเอง ไม่สามารถขอตีความได้ เว้นแต่เหตุผลดังกล่าวจะช่วยให้เข้าใจส่วนของคำตัดสินได้ดีขึ้น แต่ในกรณีนี้ สองฝ่ายไม่ได้มีความเห็นที่ไม่ตรงกันในเรื่องความหมายในส่วนของคำพิพากษา ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องนำเหตุผลใดมาใช้ประกอบการตีความ แม้เหตุผลนั้นจะสำคัญเพียงใดก็ตาม

๔. คำขอตีความต้องไม่ถูกนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อใช้แก้ไขสิ่งที่ศาลได้พิพากษาแล้ว

๔.๑ ในทางปฎิบัติ คำขอตีความของกัมพูชาเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์เดียว คือ ให้ศาลฯ ตัดสินว่าเขตแดนตลอดแนวของสองประเทศเป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก ๑ โดยมีนัยปรากฏในคำร้องของกัมพูชา และมีการระบุถึงเหตุการณ์ในบริเวณชายแดนอื่น ๆ นอกเหนือจากบริเวณปราสาทฯ เพื่อให้ศาลฯ มีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราว ในการนี้ กัมพูชาพยายามให้ศาลตัดสินในสิ่งที่ศาลได้ปฏิเสธเมื่อ ๕๐ ปีที่ผ่านมา

๔.๒ ในปี ๒๕๐๕ ศาลได้วินิจฉัยว่า คดีปราสาทพระวิหารเป็นคดีเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน และได้จำกัดประเด็นข้อพิพาทเฉพาะในเรื่องดังกล่าว โดยจะนำประเด็นเรื่องเขตแดนมาใช้เป็นเหตุผลประกอบหากจำเป็นสำหรับการตัดสินเท่านั้น และได้สรุปไว้ในท้ายคำพิพากษาด้วยว่า คำขอของกัมพูชาที่ให้ศาลพิจารณาเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก ๑ และเส้นเขตแดนในบริเวณดังกล่าว ศาลจะใช้เพื่อประกอบเป็นเหตุผลเท่านั้น โดยไม่เกี่ยวข้องกับส่วนของคำพิพากษา

๔.๓ ประเด็นที่ศาลฯ ไม่ได้ตัดสินในคดีหลัก ไม่สามารถนำมาให้ศาลพิจารณาในคำร้องขอตีความตามข้อ ๖๐ ของธรรมนูญศาลฯ ได้ คำร้องของกัมพูชาในครั้งนี้ เสมือนเป็นการขออุทธรณ์ในประเด็นที่ศาลฯ ได้ตอบปฏิเสธไปแล้วในคดีหลัก และนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อใช้แก้ไขสิ่งที่ศาลฯ ได้พิพากษาแล้ว

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ