๑. ศาสตราจารย์ครอว์ฟอร์ดกล่าวเกี่ยวกับประเด็นเขตอำนาจศาลและมาตรการชั่วคราว โดยเริ่มว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาว่าความในนามของประเทศไทยในคดีนี้ ซึ่งเป็นคดีที่มีความแปลก เมื่อพิจารณาว่า กัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาเมื่อเกือบ ๕๐ ปีที่แล้ว นอกจากนี้ ยังขอให้ศาลออกคำสั่งมาตรการชั่วคราวในปัจจุบัน ที่ครอบคลุมไม่เพียงเฉพาะปราสาทพระวิหาร แต่รวมถึงบริเวณแนวชายแดนตลอดแผนที่แนบท้าย Annex I หรือแผนที่ฉบับอื่นๆ ที่ฝรั่งเศสทำขึ้น ทั้งหมดนี้ โดยอ้างเพียงมาตรา ๖๐ ของธรรมนูญศาลที่ให้อำนาจศาลในการตีความเท่านั้น
๒. หลังจากนั้น ศาสตราจารย์ครอว์ฟอร์ดได้ชี้ให้ศาลเห็นว่า ศาลไม่มีเขตอำนาจในการออกคำสั่งมาตรการชั่วคราวในคดีนี้ โดยยกบรรทัดฐานในคดีก่อน ๆ ที่ว่า ศาลไม่ควรออกคำสั่งมาตรการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองสิทธิที่เป็นประเด็นพิพาทใด ๆ นอกจากสิทธิเช่นว่า ศาลจะพึงพิจารณาได้ในชั้นคดีความหลัก และว่า ในคดีนี้ คดีความหลักคือการตีความ ซึ่งเขตอำนาจของศาลในการตีความนั้นเป็นเขตอำนาจที่มีลักษณะพิเศษ โดยมีข้อจำกัดคือ เป็นเขตอำนาจในการตีความคำพิพากษาเดิมที่ถือเป็นที่สุดแล้วเท่านั้น มิใช่เขตอำนาจในการพิจารณาว่า คู่ความได้ปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลแล้วหรือไม่ (ซึ่งกลไกของการบังคับการปฏิบัติตามคำพิพากษานั้นเป็นอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ) นอกจากนี้ โดยที่เขตอำนาจในคดีความหลักเป็นเขตอำนาจในการตีความ เขตอำนาจของศาลในการพิจารณาคำขอให้ออกมาตรการชั่วคราวจะต้องเกี่ยวเนื่องกับประเด็นการตีความคำพิพากษาในปี ๑๙๖๒ เท่านั้น
๓. ในส่วนของประเด็นการตีความคำพิพากษาในปี ๑๙๖๒ นั้น ศาสตราจารย์ครอว์ฟอร์ดชี้ให้ศาลเห็นว่า คำพิพากษาในคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลตัดสินเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๖๒ นั้น เกี่ยวข้องเฉพาะปราสาทพระวิหารเท่านั้น เห็นได้ชัดจากการที่กัมพูชาได้เคยขอให้ศาลตัดสินเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของแผนที่แนบท้าย Annex I และเส้นเขตแดนระหว่างไทยกัมพูชาในบริเวณพิพาท แต่ศาลก็ได้ปฏิเสธ และตัดสินแล้วว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่เกี่ยวกับอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร ไม่ใช่เขตแดน ทั้งนี้ โดยเสริมว่า การที่คำพิพากษาในปี ค.ศ. ๑๙๖๒ มีขอบเขตจำกัดเฉพาะปราสาทพระวิหารเท่านั้น เห็นได้จากหลักฐานอื่นๆ ที่คู่ความได้ยกให้ศาลพิจารณานอกเหนือจากแผนที่ Annex I โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประสาท อาทิ ยามประจำปราสาท และการเยือนปราสาทพระวิหารโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพในปี ค.ศ. ๑๙๓๐ ซึ่งในกรณีหลัง ถือเป็นเหตุผลส่วนสำคัญอีกเหตุผลหนึ่งในการที่ศาลพิจารณาว่า ไทยได้ยอมรับอธิปไตยของกัมพูชาเหนือประสาทพระวิหารแล้ว (ซึ่งไทยก็ได้ปฏิบัติตามคำตัดสินในส่วนที่ศาลชี้ว่าปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาแล้ว)
๔. ในส่วนของข้อจำกัดของเขตอำนาจในการตีความนั้น ศาสตราจารย์ครอว์ฟอร์ดได้ยกบรรทัดฐานในคดีก่อนๆ ที่ว่า ในคดีตีความ ศาลจะหลีกเลี่ยงการพิจารณาข้อเท็จจริงใด ๆ นอกเหนือจากข้อเท็จจริงในคดีเดิม และจะหลีกเลี่ยงการพิจารณาข้อเท็จจริงใหม่ที่เกิดขึ้นภายหลังคำพิพากษา และวิจารณ์คำขอมาตรการชั่วคราวของกัมพูชาว่า นอกจากจะอ้างความจำเป็นฉุกเฉินจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นห่างไกลจากปราสาทพระวิหารแล้ว ยังเป็นเหตุการณ์ที่ล้วนแต่เกิดขึ้นหลังจากคำพิพากษาในปี ค.ศ. ๑๙๖๒ ทั้งสิ้น ดังนั้น ในหลักการแล้ว ศาลจึงไม่มีเขตอำนาจใมนการออกมาตรการชั่วคราวตามที่กัมพูชาขอ
๕. ในส่วนข้อจำกัดที่ว่า เขตอำนาจในการตีความไม่รวมถึงอำนาจในการพิจารณาว่าคู่ความได้ปฏิบัติตามคำขอของศาลแล้วหรือไม่ ศาสตราจารย์ครอว์ฟอร์ดวิจารณ์ว่า สาระของคำขอตีความรวมทั้งคำขอมาตรการชั่วคราวของกัมพูชานั้น แท้จริงแล้วเป็นการร้องเรียนว่าไทยไม่ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล เห็นได้จากถ้อยคำที่กัมพูชาใช้ในคำขอ อาทิ “ความยุ่งยากที่เกิดขึ้น โดยไม่คำนึงว่าเมื่อใด ที่ส่งผลกระทบต่อการเคารพในพันธกรณีจากคำพิพากษา กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กัมพูชากำลังขอให้ศาลตัดสินเกี่ยวกับความรับผิดชอบของไทยต่อการละเมิดคำพิพากษาโดยอ้างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังคำพิพากษาหลายศตวรรษ ซึ่งอยู่นอกขอบเขตอำนาจในการตีความ
๖. โดยสรุป ศาสตราจารย์ครอว์ฟอร์ด กล่าวว่า คำขอของกัมพูชานั้น ทำให้ไม่มีทางออก กล่าวคือ หากคำขอของกัมพูชาเป็นคำขอการตีความคำพิพากษาในปี ค.ศ. ๑๙๖๒ จริง ก็ไม่สามารถถือได้ว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ศาลจะต้องออกมาตรการชั่วคราว แต่หากคำขอดังกล่าวเกิดจากเหตุการณ์ตามแนวชายแดนในปัจจุบัน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องและห่างไกลจากปราสาทพระวิหาร ก็จะไม่ถือเป็นการตีความคำพิพากษาเดิม หากแต่เป็นความพยายามในการบังคับการปฏิบัติตามคำพิพากษา ซึ่งอยู่นอกขอบเขตอำนาจในการตีความตามมาตรา ๖๐
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--