สรุปประเด็นคำกล่าวของศาสตราจารย์โดนัลด์ เอ็ม แม็คเรย์ ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔

ข่าวต่างประเทศ Tuesday June 7, 2011 10:23 —กระทรวงการต่างประเทศ

กัมพูชาได้ยื่นขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราว ๓ ประการ ดังนี้

๑. ขอให้ไทยถอนทหารออกจากบริเวณปราสาทพระวิหารในดินแดนกัมพูชาโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข

๒. ห้ามไทยดำเนินกิจกรรมทางทหารใดๆ ในบริเวณปราสาทพระวิหาร

๓. ขอให้ไทยยับยั้งการดำเนินการใดๆ ที่อาจกระทบต่อสิทธิของกัมพูชาและเพิ่มความขัดแย้งในคดีตีความคำพิพากษา

เหตุผลที่ศาลฯ ไม่ควรมีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราวตามคำขอของกัมพูชา มีดังนี้

๑. คำขอของกัมพูชาไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับประเด็นในสาระสำคัญ (subject matter) ของข้อพิพาท

๒. คำขอของกัมพูชาไม่เข้าเงื่อนไขเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนที่จะทำให้ศาลฯ ต้องมีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราว

๓. คำขอในชั้นออกมาตรการชั่วคราวนี้เปรียบเสมือนคำขอให้ศาลฯ มีคำพิพากษาในประเด็นสารัตถะของคดี

๑. คำขอของกัมพูชาไม่สัมพันธ์กับสาระสำคัญ (subject matter) ของข้อพิพาท

เงื่อนไขสำคัญในการออกมาตรการชั่วคราวคือ มาตรการชั่วคราวที่ร้องขอจะต้องมีความสัมพันธ์กับสิทธิที่เป็นสาระสำคัญในการดำเนินคดีในส่วนสารัตถะ แต่มาตรการชั่วคราวที่ฝ่ายกัมพูชาร้องขอไม่มีความสัมพันธ์กับสาระสำคัญ (subject matter) ของข้อพิพาท เนื่องจากไทยและกัมพูชาไม่ได้มีข้อพิพาทเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารตามที่กัมพูชากล่าวอ้าง แต่สิ่งที่กัมพูชาขอตีความเกี่ยวกับสถานะของแผนที่ Annex ๑ ไม่ใช่สิ่งที่ศาลฯ ตัดสินในปี ค.ศ. ๑๙๖๒ และไม่ใช่การตีความความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา ดังนั้น คำขอให้ศาลฯ มีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราวของกัมพูชาจึงไม่สัมพันธ์กับประเด็นสาระสำคัญ (subject matter) ของข้อพิพาท

นอกจากนี้ คำขอให้ศาลฯ มีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราวของกัมพูชาตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายนอกพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร กล่าวคือ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณปราสาทตาควาย และกลุ่มปราสาทตาเมือน ซึ่งอยู่ห่างจากปราสาทพระวิหารถึง ๑๔๗ และ ๑๕๘ กิโลเมตร

สำหรับมาตรการชั่วคราวข้อที่ ๓ ที่กัมพูชาร้องขอ คือ ขอให้ศาลฯ มีคำสั่ง “ให้ไทยยับยั้งการดำเนินการใดๆ ที่อาจกระทบต่อสิทธิของกัมพูชาและเพิ่มความขัดแย้งในคดีตีความคำพิพากษา” ตามแนวปฏิบัติของศาลฯ ที่ผ่านมา ศาลฯ จะไม่ออกมาตรการชั่วคราวเพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจเพิ่มขึ้น หากข้อเท็จจริงไม่เข้าเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการมีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราว

นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า มาตรการชั่วคราวที่ฝ่ายกัมพูชายื่นขอไม่มีความสมดุล เนื่องจากเป็นการขอให้ฝ่ายไทยดำเนินการฝ่ายเดียว

๒. ไม่เข้าเงื่อนไขเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนที่จะทำให้ศาลฯ จะต้องมีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราว

ในการพิจารณาเงื่อนไขเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนที่จะทำให้ศาลฯ ต้องมีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราว นั้น ศาลฯ จะพิจารณาปัจจัยสองประการได้แก่ (๑) จะต้องมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายที่ไม่อาจเยียวยาได้ต่อสิทธิที่เป็นสาระสำคัญ(subject matter) ของข้อพิพาท และ (๒) สถานการณ์มีความฉุกเฉิน (imminence) ที่สิทธิของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเสียหายก่อนศาลมีคำพิพากษา

ในกรณีนี้ กัมพูชาขอให้ออกมาตรการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองสิทธิที่อ้างว่าเป็นไปตามคำพิพากษาที่ศาลฯ ตัดสินเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว ดังนั้น กัมพูชามิได้พิสูจน์ให้เห็นว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายที่ไม่อาจเยียวยาได้ต่อสิทธิที่เป็นประเด็นสาระสำคัญ

นอกจากนี้ บันทึกความเข้าใจ ๒๕๔๓ จัดตั้งกลไกแก้ไขปัญหาด้านเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา รวมถึงเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหารด้วย อย่างไรก็ดี แม้ว่าฝ่ายไทยจะถอนทหารจากปราสาทพระวิหารและพื้นที่ใกล้เคียงตามคำพิพากษา ค.ศ. ๑๙๖๒ แล้ว แต่ฝ่ายกัมพูชาก็ยังคงละเมิดพันธกรณีตามข้อ ๕ ของบันทึกความเข้าใจ พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งระบุให้หน่วยงานของรัฐบาลกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเหล่านั้นงดเว้นการดำเนินการใดๆ ที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ชายแดน โดยการดำเนินการกิจกรรมต่างๆ นอกบริเวณปราสาทพระวิหาร รวมถึงการสร้างวัด การจัดระเบียบชุมชน และการก่อสร้างถนน

การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยฝ่ายเดียวของกัมพูชาถือเป็นการอ้างอธิปไตยบนดินแดนซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทที่อยู่นอกปราสาทพระวิหาร

นอกจากนี้ หลักฐานที่กัมพูชานำมาใช้อ้างล้วนแต่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่อยู่นอกบริเวณที่ศาลฯ มีคำพิพากษาเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๖๒ โดยกัมพูชาไม่ได้อ้างถึงเหตุการณ์ปะทะบริเวณปราสาทพระวิหารซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๘, ค.ศ. ๒๐๐๙ และเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๔ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากแนวปฏิบัติของศาลฯ ที่ผ่านมา จะเห็นว่า ศาลฯ มีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ๖- ๗ วันก่อนวันที่ศาลฯ มีคำสั่ง (Nicaragua/Cameroon และ Georgia/Russia) หรือเหตุการณ์ที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ในวันที่ประเทศที่เกี่ยวข้องยื่นคำขอต่อศาลฯ (Costa Rica/Nicaragua และ Avena) ดังนั้น จึงไม่อาจกล่าวได้ว่า คำขอของกัมพูชาบรรลุเงื่อนไขในความหมายของ “ความฉุกเฉิน”

กัมพูชาไม่กล่าวถึงการบรรลุข้อตกลงระหว่างไทยกับกัมพูชาที่จะแก้ไขปัญหาโดยมีอาเซียนสนับสนุน และ Agreed Summary (วันที่ ๙ พ.ค. ๒๕๕๔) ซึ่งไทยและกัมพูชาตกลงกำหนดกลไกในการระงับข้อพิพาทโดยสันติ โดยการส่งคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย การจัดการประชุม GBC และการจัดการประชุม JBC สำหรับกลไก JBC นั้น ฝ่ายกัมพูชาตระหนักดีว่า ในส่วนของฝ่ายไทย ได้ปฏิบัติครบถ้วนตามขั้นตอนตามกฎหมายไทยแล้ว และฝ่ายไทยได้มีหนังสือแจ้งฝ่ายกัมพูชาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔

๓. คำขอให้ศาลฯ มีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราวของกัมพูชาเปรียบเสมือนคำขอให้ศาลฯ มีคำพิพากษาในสาระสำคัญของคดี

ตามแนวปฏิบัติของศาลฯ ศาลฯ จะไม่มีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราว หากการมีคำสั่งดังกล่าวจะมีผลเสมือนกับศาลฯ ได้ตัดสินในประเด็นสารัตถะของคดีแล้ว (prejudge) ก่อนที่ศาลฯ จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตีความ ในกรณีนี้ คำขอของกัมพูชาให้ศาลฯ มีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราวเปรียบเสมือนการขอให้ศาลฯ ตัดสินประเด็นสารัตถะของคดีขอตีความ

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


แท็ก กัมพูชา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ