๑. ท่าทีของไทยในเรื่องคำขอให้ศาลมีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราวและการดำเนินความสัมพันธ์กับกัมพูชามีพื้นฐานอยู่บนความเสมอต้นเสมอปลายและความจริงใจ
๒. ความเสมอต้นเสมอปลาย
๒.๑ ไทยยอมรับและปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฯ อย่างครบถ้วนแล้วซึ่งกัมพูชาก็ยอมรับ
๒.๒ ศาลฯ ไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องดำเนินการตามกรอบบันทึกความเข้าใจฯ ปี ค.ศ. ๒๐๐๐ ต่อไป โดยในระหว่างการเจรจาเพื่อจัดทำหลักเขตแดน ไทยได้ยึดถือแนวเส้นตามมติคณะรัฐมนตรีปี ค.ศ. ๑๙๖๒ ว่าเป็นขอบเขตของปราสาทพระวิหารมาโดยตลอด
๒.๓ การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมดกโลกจำเป็นต้องกำหนดพื้นที่บริหารจัดการซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตแดนไทย โดยไทยพร้อมขึ้นทะเบียนร่วมกับกัมพูชาแต่ถูกปฏิเสธเรื่อยมาอันเป็นสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ไทยคัดค้านคำขอกัมพูชาให้ศาลฯ ออกมาตรการชั่วคราวที่มีเป้าหมายเพื่อการเสนอแผนบริหารจัดการให้ทันการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกในเดือนมิถุนายน ศกนี้
๓. ความจริงใจ
๓.๑ ไทยยึดหลักความจริงใจในการดำเนินความสัมพันธ์กับกัมพูชา แต่น่าเสียดายที่กัมพูชาได้พยายามสร้างภาพความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เข้มแข็งและประเทศที่อ่อนแอกว่า ทั้งที่ในความเป็นจริงประชาชนบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอยู่สม่ำเสมอ
๓.๒ ออท. ณ กรุงเฮกตอบโต้ข้อกล่าวหาของกัมพูชาในประเด็นข้อเท็จจริงต่าง ๆ ดังนี้
(๑) แผนที่ ‘ลับ’ ของไทยแสดงถึงความปรารถนาที่จะยึดครองดินแดนกัมพูชา
- ไทยไม่มีแผนที่ลับและไม่มีความต้องการยึดครองดินแดนกัมพูชา และย้ำว่าประเด็นเรื่องเขตแดนไม่ได้ถูกตัดสินโดยศาลฯ ในปี ค.ศ. ๑๙๖๒ และไม่ใช่ประเด็นที่อยู่ในการพิจารณาครั้งนี้
(๒) วัดแก้วฯ สร้างขึ้นโดยกัมพูชาระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๙๖-๑๙๙๘
- วัดแก้วฯ สร้างขึ้นหลายปีหลังจากนั้น และไทยได้ประท้วงทั้งในระดับท้องถิ่นและการทูตมาตลอด
(๓) ไทยมุ่งสร้างความเสียหายต่อปราสาทพระวิหาร
- ไทยไม่มีเจตนาดังกล่าว แต่กลับเป็นฝ่ายกัมพูชาที่ใช้ปราสาทพระวิหารฯ เป็นฐานที่มั่นในการโจมตี ซึ่งถือเป็นการละเมิดอนุสัญญากรุงเฮกฯ ปี ค.ศ. ๑๙๕๔ ฝ่ายไทยจึงจำเป็นต้องใช้สิทธิในการป้องกันตนเองในระดับที่เหมาะสมและมุ่งเฉพาะเป้าหมายทางทหาร
(๔) ไทยใช้ระเบิดพวงในระหว่างการปะทะกับกัมพูชา
- ฝ่ายไทยไม่เคยใช้ระเบิดพวงในระหว่างการปะทะกับกัมพูชา ทั้งนี้ไทยร่วมการเจรจาเพื่อลดอาวุธอย่างแข็งขัน กัมพูชากลับเป็นฝ่ายที่ละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิด โดยวางทุ่นระเบิดในบริเวณใกล้ปราสาทพระวิหารเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๘ จนทำให้ทหารบาดเจ็บ
(๕) รัฐสภาไทยเสร็จสิ้นการพิจารณาบันทึกการประชุม JBC เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๑๑ เพราะกัมพูชายื่นเรื่องขอให้ศาลฯ ตีความคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ค.ศ. ๒๐๑๑
- กระบวนการทางกฎหมายภายในของไทยเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ ๑๙ เมษายน ค.ศ. ๒๐๑๑ ซึ่งฝ่ายกัมพูชา รวมถึงรองตัวแทนของกัมพูชาในคณะดำเนินคดีของกัมพูชาเองได้ให้สัมภาษณ์สื่อยอมรับข้อเท็จจริงนี้
(๖) ปัญหาการเมืองภายในของไทยเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง
- การเมืองไทยไม่มีความเกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับประเด็นที่ศาลกำลังพิจารณา
(๗) ประชาชนกัมพูชาในพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทพระวิหารอยู่อาศัยในพื้นที่มานานแล้ว
- กลุ่มคนดังกล่าวเพิ่งถูกย้ายเข้าไปอยู่ในบริเวณดังกล่าวเพื่อเป้าหมายทางการเมือง
(๘) มีความเสี่ยงที่ความขัดแย้งจะทวีความรุนแรงเพราะฝ่ายไทย
- กัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มการโจมตีก่อนมาโดยตลอด
(๙) ไทยเป็นฝ่ายขยายความขัดแย้งจากปราสาทพระวิหารไปยังพื้นที่บริเวณปราสาทตาเมือนและตาควาย เนื่องจากข้อตกลงหยุดยิงเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ค.ศ. ๒๐๑๑ ที่เกิดขึ้นเพราะกัมพูชาได้ยื่นขอให้ศาลฯ ตีความคำพิพากษาในวันเดียวกัน
- ไทยตกลงหยุดยิงกับกัมพูชาเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ค.ศ. ๒๐๑๑ โดยสุจริตและไม่ใช่เพราะกัมพูชายื่นเรื่องให้ศาลฯ ตีความ แต่กัมพูชาเป็นฝ่ายที่ละเมิดข้อตกลงหยุดยิงและขยายความขัดแย้งจากปราสาทพระวิหารมายังพื้นที่บริเวณอื่น ซึ่งเป็นการสร้างสถานการณ์ความเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนการขอให้ศาลฯ มีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราว อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในบริเวณปราสาทพระวิหารได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๑๑ โดยทหารทั้งสองฝ่ายมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ และเหตุการณ์ที่ปราสาทตาเมือนและปราสาทตาควายไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาครั้งนี้
(๑๐) เหตุการณ์ปะทะในบริเวณปราสาทพระวิหาร ปราสาทตาเมือนและตาควายแสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างมาตรการชั่วคราวที่กัมพูชาร้องขอกับคำพิพากษาปี ค.ศ. ๑๙๖๒ และยังแสดงถึงความเร่งด่วน (urgency) ที่ศาลฯ ควรพิจารณามีคำสั่งให้ออกมาตรการชั่วคราว
- ไม่มีเหตุการณ์ปะทะในพื้นที่ใกล้ปราสาทพระวิหารในช่วงเวลาที่ผ่านมา ยกเว้นกรณีเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ค.ศ. ๒๐๑๑ ซึ่งฝ่ายกัมพูชาเองก็ไม่ได้กล่าวถึงในคำขอ มีเพียงเฉพาะเหตุการณ์ปะทะในบริเวณปราสาทตาเมือนและปราสาทตาควาย ซึ่งศาลฯ ไม่สามารถมีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถเยียวยาได้ในบริเวณปราสาทพระวิหารบนพื้นฐานของเหตุการณ์ปะทะในบริเวณอื่น
(๑๑) เหตุใดไทยจึงไม่ใช้กลไกของสหประชาชาติหากเห็นว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายรุกราน
- สิทธิในการป้องกันตัวเป็นสิทธิที่มีอยู่แล้ว (inherent right) และไทยได้แจ้งให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทราบทันทีภายหลังที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๑๑
๓. บทสรุป ฝ่ายไทยได้แสดงให้ศาลฯ เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่เยียวยาไม่ได้ต่อสิทธิในระหว่างรอผลคดีตีความ นอกจากนี้ ไทยกับกัมพูชาไม่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาปี ค.ศ. ๑๙๖๒ และคำขอขอกัมพูชาเป็นความพยายามที่จะให้ศาลชี้ขาดในประเด็นที่ศาลไม่ได้ตัดสินในปี ค.ศ. ๑๙๖๒ ดังนั้น ศาลฯ ไม่มีทั้งเขตอำนาจเบื้องต้นในการออกมาตรการชั่วคราวและเหตุผลสมควรแต่อย่างใดที่จะพิจารณาการตีความ
๔. คำขอสรุป (Final submission) ราชอาณาจักรไทยขอให้ศาลฯ ถอนคดีเกี่ยวกับคำขอให้ศาลฯ ตีความคำพิพากษาในคดีปราสาทพระวิหาร ที่กัมพูชายื่นต่อศาลฯ เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ค.ศ. ๒๐๑๑ ออกจากบัญชีคดีของศาลฯ (General List)
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--