๑. การตอบโต้ต่อคำกล่าวของ Sir Franklin Berman
- กัมพูชาต้องโน้มน้าวศาลให้เห็นว่าคำพิพากษาเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๖๒ ให้สิทธิตามที่ตนอ้าง
- ต่อคำกล่าวของฝ่ายกัมพูชาว่า หลายประเด็นที่ไทยยกน่าจะเป็นเรื่องของการพิจารณาในชั้นการตีความ นั้น Prof. Pellet เห็นว่า ศาลจะออกมาตรการชั่วคราวได้ก็ต่อเมื่อศาลมีเขตอำนาจที่ชัดเจน (prima facie) ในการพิจารณาคดีหลัก กล่าวคือคดีตีความคำพิพากษาเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๖๒ หรือไม่ และศาลจะต้องพิจารณาว่าเงื่อนไขของข้อ ๖๐ ของธรรมนูญศาลครบ ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามว่ามีข้อพิพาทเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๖๒ หรือไม่
- เป็นที่แน่นอนว่า ส่วนของคำตัดสินข้อที่ ๒ ของคำพิพากษา (การถอนทหารไทยออกจากบริเวณใกล้เคียงปราสาท) เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๖๒ เป็นผลมาจากส่วนของคำตัดสินข้อที่ ๑ (ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยกัมพูชา) ดังนั้น เมื่อสังเกตจากถ้อยคำที่ศาลใช้เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๖๒ ทำให้เชื่อได้ว่ามีบริเวณใกล้เคียง (vicinity) ของปราสาทอยู่ทั้งในดินแดนไทย และดินแดนกัมพูชา อย่างไรก็ดี ศาลไม่ได้บ่งชี้ว่าเส้นเขตแดนอยู่ที่ไหนในบริเวณดังกล่าว
๒. ศาลไม่มีเขตอำนาจโดยชัดแจ้งในการพิจารณาคำขอให้ศาลมีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราวของกัมพูชา
- โดยที่คำขอของกัมพูชาต่อศาลเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๕๙ เกี่ยวกับอธิปไตยของปราสาทพระวิหาร ซึ่งต่อมาศาลได้ยอมรับว่ามีอำนาจในการพิจารณาคำขอดังกล่าว ซึ่งเป็นประเด็นเดียวของข้อพิพาทในขณะนั้น ดังเห็นได้จากส่วนของคำตัดสินข้อที่ ๑ อีกทั้งศาลยังปฏิเสธที่จะพิจารณาคำขอของกัมพูชาเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก ๑ และเส้นเขตแดนในพื้นที่พิพาท ดังนั้นศาลจึงไม่ได้ตัดสินเรื่องเส้นเขตแดนใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเส้นเขตแดนโดยทั่วไป หรือเส้นเขตแดนในบริเวณใกล้เคียงปราสาท แน่นอนว่า ศาลใช้เหตุว่าไทยได้ยอมรับแผนที่ภาคผนวก ๑ แต่ก็เป็นส่วนของเหตุผล (motif) และตามหลักกฎหมาย เราสามารถหันไปพึ่งส่วนของเหตุผล เพียงเพื่อตีความส่วนของคำตัดสินที่คลุมเครือเท่านั้น เพราะส่วนของเหตุผลไม่มีสถานะเป็นสิ่งที่ศาลตัดสิน
- แม้ในขณะนั้นไทยจะไม่ยินดีกับคำพิพากษาแต่ไทยก็ได้ยอมรับว่าศาลอยู่ในดินแดนที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และได้ถอนทหารออกจากปราสาท และบริเวณใกล้เคียงซึ่งอยู่ในดินแดนกัมพูชา อันเป็นการได้ปฏิบัติตามพันธกรณีที่เกิดจากคำพิพากษาแล้ว
- หลังจากคำพิพากษา เป็นที่ปรากฏว่า มากกว่าครึ่งศตวรรษ แต่ละฝ่ายได้ครอบครองส่วนหนึ่งของบริเวณใกล้เคียงปราสาทอยู่จริง (effective control) และไม่ปรากฏว่ากัมพูชาได้คัดค้าน และได้ยอมรับโดยการนิ่งเฉย (acquiesce) แล้ว กอปรกับฝ่ายไทยสามารถอ้างถึงการที่สมเด็จสีหนุเสด็จมาที่ปราสาทเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๓ ในลักษณะเดียวกันกับที่กรมพระยาดำรงได้เสด็จปราสาทเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๓๐ เพราะสมเด็จสีหนุไม่อาจทำไม่รู้ไม่ชี้กับรั้วซึ่งสร้างขึ้นใกล้ปราสาท และในขณะนั้นมีนักข่าวและทหารไทยยืนรออยู่แน่นขนัด
- กัมพูชาเพิ่งตระหนักเมื่อการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกว่า สิ่งที่ตนได้ยอมรับมาโดยตลอดทำให้ตนไม่สามารถเสนอแผนบริหารจัดการต่อยูเนสโกได้ และกัมพูชาก็สารภาพโดยพฤตินัยในคำขอของตนว่า เพิ่งปรากฏเมื่อไม่นานมานี้ (ปี ค.ศ. ๒๐๐๘) ว่าไทยตีความคำพิพากษาเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๖๒ ต่างจากกัมพูชา
- แม้จะมีข้อพิพาท (ความเห็นต่าง) เกี่ยวกับเส้นเขตแดน แต่โดยที่คำพิพากษาเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๖๒ ไม่ได้กำหนดเส้นเขตแดน ดังนั้นศาลจึงไม่มีอำนาจในการตีความเกี่ยวกับประเด็นนี้ ซึ่งเป็นประเด็นเดียวที่เป็นปัญหา และคำขอนี้จะต้องไม่ใช่เป็นคำขอเพื่อการบังคับคำพิพากษา
- ไม่ต้องสงสัยว่า มีความเห็นต่างระหว่างกันเกี่ยวกับเส้นเขตแดนร่วม ทั้งแนว รวมทั้งในบริเวณปราสาทพระวิหาร จึงเป็นที่มาของบันทึกความเข้าใจ (MOU) เมื่อปี ๑๔ มิถุนายน ค.ศ. ๒๐๐๐ เพื่อสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน โดย MOU ไม่อ้างถึงคำพิพากษาเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๖๒ อยู่ในเอกสารต่างๆ ที่ JBC จะต้องพิจารณา ซึ่งเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ทั้งสองฝ่ายตระหนักว่าคำพิพากษาไม่ใช่ตราสารเพื่อการกำหนดเส้นเขตแดน อย่างไรก็ดี การจะสามารถจัดทำหลักเขตแดน (demarcate) ได้ จะต้องมีการกำหนดเส้นเขตแดนก่อน โดยข้อ ๑ ของ MOU ระบุรายการเอกสาร และแผนที่ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการพิจารณาว่าเป็นเครื่องมือ/ตราสารที่ได้กำหนดเส้นเขตแดน (delimitation ) ไว้แล้ว โดยไม่ได้รวมถึงคำพิพากษา และถึงแม้กัมพูชาจะอ้างว่าเป็นเอกสารเดียวกับที่ศาลใช้ในขณะนั้น แต่ JBC ก็อาจจะวิเคราะห์เอกสารดังกล่าวต่างไปจากศาลก็ได้
- แม้ทั้งสองฝ่ายจะมีความเห็นแตกต่างเกี่ยวกับเส้นเขตแดนทั้งในบริเวณนี้และบริเวณที่ไกลจากปราสาท แต่ว่าความเห็นต่างนี้ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ได้ตัดสินโดยคำพิพากษาเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๖๒ เพราะศาลไม่ได้ตัดสินเรื่องเส้นเขตแดน
- จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ศาลไม่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคำขอตีความของกัมพูชา ดังนั้น จึงไม่มีอำนาจในการพิจารณาคำขอให้ศาลมีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราว ดังนั้น จึงขอให้ศาลเอาเรื่องนี้ออกจากวาระการพิจารณาของศาล
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--