สรุปประเด็นคำกล่าวของศาสตราจารย์เจมส์ ครอว์ฟอร์ด ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เมือวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔

ข่าวต่างประเทศ Tuesday June 7, 2011 10:27 —กระทรวงการต่างประเทศ

๑. ความไม่สอดคล้องกันระหว่างการขอตีความคำพิพากษาและการขอมาตรการชั่วคราว

ย้ำว่า แม้ข้อ ๖๐ ของธรรมนูญศาลฯ จะไม่มีเงื่อนไขด้านกำหนดเวลา แต่การที่เวลาล่วงเลยมากว่า ๕๐ ปีหลังจากคำพิพากษาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ ย่อมเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการพิจารณา เนื่องจากการตีความคำพิพากษาเป็นการย้อนกลับไปยังตัวบทของคำพิพากษา ในขณะที่การขอมาตรการชั่วคราวเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติของภาคีทั้งสองในอนาคต ซึ่งความไม่สอดคล้องกันดังกล่าวย่อมเพิ่มทวีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปเนิ่นนานยิ่งขึ้น ซึ่งทนายฝ่ายกัมพูชาแถลงตอบแต่เพียงเขตอำนาจของศาลในการตีความ แต่ไม่ได้แถลงตอบเกี่ยวกับเขตอำนาจของศาลในการมีคำสั่งมาตรการชั่วคราว

คำขอมาตรการชั่วคราวของกัมพูชามีลักษณะเป็นการคาดคะเนคำตัดสินประเด็นที่ตนขอตีความ หรือมิฉะนั้นก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นการตีความเลยแม้แต่น้อย และการที่เซอร์ แฟรงคลิน เบอร์แมน ทนายฝ่ายกัมพูชาอ้างถึงคดี Avena (เม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกา) ซึ่งเป็นคดีเดียวของคดีตีความคำพิพากษาที่ศาลมีคำสั่งมาตรการชั่วคราวนั้น ตนเห็นว่าคดี Avena เป็นกรณีพิเศษและแตกต่างจากคดีปราสาทพระวิหาร โดยมีข้อแตกต่างถึง ๕ ข้อได้แก่ (๑) คดี Avena เป็นคดีเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต ซึ่งเป็นความเสียหายที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในตัวเอง (๒) คำขอตีความคดี Avena เกิดขึ้นหลังจากคำพิพากษาเดิมไม่นาน (๓) คดี Avena เกี่ยวข้องกับนักโทษที่ถูกระบุชื่อไว้ในส่วนที่เป็นคำพิพากษา (dispositif) โดยตรง มิใช่เป็นการขอตีความส่วนที่เป็นเหตุผล (motif) ของคำพิพากษาเหมือนคดีปัจจุบัน (๔) ภาคีคู่พิพาทในคดี Avena ไม่มีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับอำนาจศาล (๕) ภาคีคู่พิพาทในคดี Avena ไม่เคยโต้แย้งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของข้อ ๔๑ และข้อ ๖๐ ของธรรมนูญศาลฯ

และในท้ายที่สุดของคดี Avena ศาลก็ตัดสินว่าไม่มีการตีความคำพิพากษาที่แตกต่างกันและไม่มีสิทธิใด ๆ ที่ศาลต้องปกป้องคุ้มครอง ฝ่ายไทยไม่โต้แย้งว่าศาลมีมาตรการชั่วคราวในคดีการตีความตามข้อ ๖๐ ไม่ได้ แต่โดยที่เขตอำนาจของศาลในการตีความมีลักษณะพิเศษ ศาลจะสั่งมาตรการชั่วคราวได้เฉพาะในกรณีพิเศษเท่านั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงว่าในกรณีนี้เวลาได้ผ่านมานานแล้วและทุกฝ่ายได้รับทราบท่าทีที่ไทยตีความคำพิพากษามาเป็นเวลานานแล้ว

๒. กัมพูชามิได้บรรลุเงื่อนไข ๖ ประการสำหรับการมีคำสั่งมาตรการชั่วคราว ได้แก่

๒.๑ ต้องมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษา ซึ่งจากการที่ตัวแทนฝ่ายกัมพูชาพูดถึงเหตุการณ์ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่ากัมพูชาพยายามขอให้ศาลบังคับคดีมิใช่การ

ขอตีความคำพิพากษา

๒.๒ ข้อพิพาทนั้นต้องอยู่ในเขตอำนาจของศาล ซึ่งศาสตราจารย์เปลเล่ต์ได้แสดงแล้วว่าศาลไม่มี

เขตอำนาจ

๒.๓ ต้องมีความเชื่อมโยงระหว่างมาตรการที่ขอและสิทธิที่จะได้รับการปกป้อง ซึ่งกัมพูชาหลีกเลี่ยงที่จะพิสูจน์ว่ามาตรการชั่วคราวที่ขอมีความเชื่อมโยงกับการตีความคำพิพากษา พ.ศ. ๒๕๐๕ อย่างไร ซึ่งความเชื่อมโยงดังกล่าวย่อมอ่อนลงตามกาลเวลา

๒.๔ ต้องพิสูจน์ความเป็นไปได้ (plausibility) ของสิทธิที่ต้องการจะปกป้อง ซึ่งการที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าไม่ต้องพิสูจน์ความเป็นไปได้ของสิทธิดังกล่าวเนื่องจากศาลได้ตัดสินเกี่ยวกับสิทธิเหล่านี้ไปแล้ว เท่ากับเป็นการยืนยันว่าสิ่งที่กัมพูชาขอเป็นเรื่องการบังคับคดี

๒.๕ ต้องมีสถานการณ์เร่งด่วน แต่ในกรณีปราสาทพระวิหารประเทศไทยได้มีมติคณะรัฐมนตรีตีความคำพิพากษาเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาตั้งแต่หนึ่งเดือนหลังจากที่มีคำพิพากษา และแจ้งไปยังเลขาธิการสหประชาชาติและนอกจากนี้ ไทยตีพิมพ์มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวในวารสารของกระทรวงการต่างประเทศ จึงไม่ใช่ท่าทีที่ไทยเพิ่งเปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้

๒.๖ ต้องมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขได้

๓. ข้อสังเกตสรุป

๓.๑ แม้ฝ่ายกัมพูชาจะให้การว่ากัมพูชาไม่ต้องการคำตัดสินชั่วคราวในประเด็นสารัตถะ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น เนื่องจากกัมพูชาได้ขอมาตรการชั่วคราวที่ทำให้ศาลต้องตัดสินว่าอะไรคือ “บริเวณปราสาทพระวิหาร” ซึ่งถ้าศาลตัดสินเช่นนั้นก็จะมีผลเป็นการตัดสินล่วงหน้าว่า (ในปี ๒๕๐๕) ศาลได้ตัดสินเส้นเขตแดนบนพื้นฐานของเส้นบนแผนที่ภาคผนวก ๑

๓.๒ คำขอของกัมพูชามีความขัดแย้งกันเองสองประการ ประการแรก คือ หากคำขอของกัมพูชาเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาเมื่อปี ๒๕๐๕ ก็จะไม่ได้เป็นคำขอใหม่ (จึงไม่อาจมีมาตรการชั่วคราวได้) ประการที่สองคือ ทนายสองคนของฝ่ายกัมพูชาให้การขัดแย้งกันเองว่าไทยได้ยอมรับคำพิพากษาหรือไม่ เซอร์เบอร์แมนให้การว่าไทยได้ยอมรับ แต่ศาสตราจารย์ซอเรลพูดว่าไทยไม่ได้ยอมรับ นั่นเป็นเพราะว่าฝ่ายกัมพูชาต้องการพูดว่าไทยยอมรับคำพิพากษาแล้วเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ศาลเห็นว่ากัมพูชาขอให้ศาลบังคับคดี (ซึ่งศาลจะไม่มีอำนาจ) ในขณะเดียวกันฝ่ายกัมพูชาก็ต้องการอ้างว่าไทยไม่ยอมรับคำพิพากษาเพื่อแสดงให้เห็นว่ายังมีข้อพิพาทเกี่ยวกับส่วนที่เป็นคำพิพากษา (dispositif)

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


แท็ก ฟอร์ด  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ