การแสดงปาฐกถา “สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร” ครั้งที่ ๕ เรื่อง “ศาลอาญาระหว่างประเทศ: กลไกที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินคดีต่อการ ละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ”

ข่าวต่างประเทศ Friday June 10, 2011 12:20 —กระทรวงการต่างประเทศ

ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชูปถัมภกสภากาชาดไทย ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๔ พรรษา ในปี ๒๕๕๔ สภากาชาดไทยร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศจะจัดงานปาฐกถา “สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร” ครั้งที่ ๕ เกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โดยสภากาชาดไทยได้ประสานกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross - ICRC) ให้เชิญนายริชาร์ด โจเซฟ โกลด์สโตน (Mr. Richard Joseph Goldstone) นักกฎหมายและผู้พิพากษาชาวแอฟริกาใต้ มาแสดงปาฐกถาในหัวข้อเรื่อง “ศาลอาญาระหว่างประเทศ: กลไกที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินคดีต่อการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ” (The International Criminal Court : an Indispensable Mechanism for Prosecution of Violations of International Humanitarian Law) ในวันจันทร์ที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จเป็นองค์ประธานในงานฯ ดังกล่าว

การแสดงปาฐกถาฯ เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการการศึกษากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศของสภากาชาดไทย เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่การศึกษาและวิจัยกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และเป็นเวทีที่ผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างประเทศจะได้แสดงทัศนะ ตลอดจนข้อคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในกฎหมายดังกล่าวต่อสาธารณชน นายริชาร์ด โจเซฟ โกลด์สโตน เป็นอดีตผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ (Eminent Judge of the Supreme Court of South Africa) ที่มีส่วนร่วมในการยุติปัญหาความขัดแย้งจากระบอบการแบ่งแยกสีผิว (apartheid) และหาแนวทางเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ ต่อมา ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าอัยการคนแรกในศาลอาญาระหว่างประเทศ สำหรับอดีตยูโกสลาเวียและรวันดาของสหประชาชาติ และล่าสุดได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะอิสระในการค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติในกาซ่า (UN Independent Fact Finding Mission on Gaza) เพื่อสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศจากการสู้รบในบริเวณดังกล่าว

การจัดปาฐกถา สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร ครั้งที่ ๕ จัดขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายในการเผยแพร่กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือที่รู้จักกันว่า กฎหมายว่าด้วยการขัดกันทางอาวุธ หรือกฎหมายว่าด้วยสงครามคือบรรดากฎเกณฑ์ที่ใช้ในภาวะสงครามที่คุ้มครองบุคคลซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการสู้รบหรือไม่ได้เข้าร่วมรบอีกต่อไปแล้ว กฎหมายนี้มุ่งจำกัดวิธีการและหนทางของการรบด้วยจุดประสงค์หลัก คือ การจำกัดและป้องกันความทุกข์ทรมานของมนุษย์เมื่อเกิดการขัดกันทางอาวุธ ไม่เพียงแต่รัฐบาลและกองทัพเท่านั้นที่จะต้องยึดถือปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เหล่านี้ แต่ยังรวมถึงฝ่ายปรปักษ์และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขัดกันทางอาวุธด้วย ทั้งนี้ การลงโทษผู้กระทำความผิดตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมีความซับซ้อนและต้องอาศัยสถาบันทางการศาลเป็นองค์กรหลักในการดำเนินการ นับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง องค์การสหประชาชาติได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ และสำเร็จลุล่วงในปี ๒๕๔๑ ด้วยการรับรองธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ

อนึ่ง กลุ่มบุคคลที่สภากาชาดไทยและกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญเพื่อเข้าร่วมฟังปาฐกถาในครั้งนี้ ประกอบด้วยรัฐมนตรี คณะทูต สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการระดับสูง ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ องค์กรเอกชน คณาจารย์และนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษา โรงเรียนทหารทั้ง ๓ เหล่าทัพ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ และสื่อมวลชน สำหรับผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมฟังการแสดงปาฐกถาครั้งนี้สามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานบริหาร สภากาชาดไทยโทรศัพท์ ๐๒-๒๕๖-๔๐๓๗-๘

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ