การดำเนินการกรณีกัมพูชาขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี ๒๕๐๕ และให้มีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราว (ฉบับประชาชน)

ข่าวต่างประเทศ Tuesday June 21, 2011 13:26 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๔ กัมพูชาได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาในคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกได้ตัดสินไปเมื่อปี ๒๕๐๕ โดยระบุว่า ไทยกับกัมพูชามีความเห็นที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษาดังกล่าว โดยฝ่ายกัมพูชาอ้างว่า ขอบเขตบริเวณปราสาทและพื้นที่ใกล้เคียงได้ถูกกำหนดไว้แล้วตามแผนที่สัดส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ ระวางดงรัก ซึ่งศาลใช้เป็นพื้นฐานของคำตัดสิน

ในระหว่างที่รอศาลพิจารณาตีความคำพิพากษา กัมพูชาได้ขอให้ศาลโลกออกมาตรการชั่วคราวซึ่งระบุให้ (๑) ไทยถอนกำลังทั้งหมดจากส่วนต่าง ๆ ของดินแดนกัมพูชาในพื้นที่ปราสาทพระวิหารทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข (๒) ห้ามไทยมีกิจกรรมทางทหารใด ๆ ในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และ (๓) ให้ไทยงดการกระทำหรือการดำเนินการใด ๆ ที่กระทบสิทธิของกัมพูชาหรือเพิ่มความขัดแย้งในคดีการตีความ จนกว่าศาลโลกจะตีความคำพิพากษาแล้วเสร็จ ซึ่งเมื่อวันที่ ๓๐-๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ผู้พิพากษาศาลโลกได้นั่งพิจารณากรณีการออกมาตรการชั่วคราวแล้ว และคาดว่าจะทราบผลการพิจารณาภายใน ปลายเดือนมิถุนายน — ต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔ ส่วนคำขอให้ตีความคำพิพากษาปี ๒๕๐๕ หลังจากศาลพิจารณาคำขอของกัมพูชาแล้ว จะกำหนดว่าไทยจะต้องยื่นความเห็นต่อศาลเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อใด ซึ่งอาจจะเป็นประมาณ ๔-๕ เดือนจากนี้ โดยปกติศาลจะใช้เวลาในการพิจารณาคดีประมาณ ๑-๒ ปี

ในการพิจารณาคดีที่ผ่านมา คณะดำเนินคดีของไทยได้กล่าวต่อศาลครอบคลุมในทุกประเด็นที่ฝ่ายกัมพูชาหยิบยกขึ้น โดยกล่าวภาพรวมเกี่ยวกับนโยบายและท่าทีของไทย และบริบททางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา ย้ำความสม่ำเสมอและความต่อเนื่องของท่าทีไทย รวมทั้งความจริงใจในการส่งเสริมความสัมพันธ์กับกัมพูชา จึงไม่มีเหตุผลใดที่ไทยจะต้องสร้างความขัดแย้งกับกัมพูชา ขณะที่ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศ ๓ คนของไทยได้ชี้แจงในประเด็นเกี่ยวกับขอบเขตของคดีและเขตอำนาจของศาล ตลอดจนคำขอมาตรการชั่วคราวและคำขอตีความคำพิพากษา เพื่อชี้ให้ศาลเห็นว่า ศาลไม่มีอำนาจในการพิจารณาคำขอทั้งสองของกัมพูชา เนื่องจากไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาเมื่อปี ๒๕๐๕ ครบถ้วนแล้ว และฝ่ายกัมพูชาก็ไม่เคยทักท้วงมาเป็นเวลาเกือบ ๕๐ ปี เมื่อเป็นเช่นนี้ ทั้งสองประเทศจึงไม่ได้มีความเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษาที่จะต้องให้ศาลตีความอีก นอกจากนี้ การให้ศาลพิจารณาปัญหาเขตแดนตามที่ฝ่ายกัมพูชาเสนอก็เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนืออำนาจการพิจารณาของศาล เนื่องจากศาลไม่ได้ตัดสินในเรื่องนี้เมื่อปี ๒๕๐๕ ทั้งนี้ ศาลจะพิจารณาตีความคำพิพากษาได้เฉพาะเรื่องที่สืบเนื่องจากคำพิพากษาเดิมเท่านั้น อีกทั้งไทยกับกัมพูชาก็ได้ตกลงที่จะเจรจาจัดทำหลักเขตแดนตลอดแนว รวมถึงบริเวณปราสาทพระวิหารแล้ว โดยลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ปี ๒๕๔๓ (เอ็มโอยู ๒๕๔๓)

นอกจากนี้ ที่ปรึกษากฎหมายของไทยยังได้ชี้ให้ศาลเห็นว่า คำขอมาตรการชั่วคราวของกัมพูชา ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้ อาทิ ต้องเป็นเรื่องเร่งด่วนและส่งผลกระทบต่อสิทธิของฝ่ายหนึ่งอย่างไม่อาจแก้ไขได้ อีกทั้งการที่กัมพูชาขอมาตรการชั่วคราวโดยอ้างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นที่ห่างจากปราสาทพระวิหาร (เหตุการณ์ปะทะที่บริเวณปราสาทตาเมือนและปราสาทตาควาย เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๔) ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการตีความคำพิพากษาปี ๒๕๐๕ ดังนั้น ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา ศาลจึงไม่ควรพิจารณาออกมาตรการชั่วคราว และขอให้ศาลยกคำร้องของฝ่ายกัมพูชา

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวไปแล้ว จึงเชื่อมั่นได้ว่า ฝ่ายไทยได้เตรียมการในเรื่องนี้มาอย่างรอบคอบและต่อเนื่อง เพราะคาดการณ์ไว้ว่า กัมพูชาอาจนำเรื่องไปยังศาลโลก ตามสิทธิที่มีตามมาตรา ๖๐ ของธรรมนูญของศาลโลก ฝ่ายไทยจึงได้เตรียมการมาเป็นระยะ ๆ โดยหารือกับที่ปรึกษากฎหมายในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ในการทำงานของฝ่ายไทยได้บูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และโดยที่คดีอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลแล้ว จึงไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าผลการพิจารณาจะเป็นเช่นไร เพราะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาลโลก โดยศาลจะพิจารณาจากข้อมูลและหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เสนอต่อศาลโลกอย่างครบถ้วนแล้ว

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ