เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๗.๓๐ น. นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์ทางไกลจากกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ต่อผู้สื่อข่าว ณ กระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับคำสั่ง (Order) ของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกกรณีกัมพูชาขอให้ศาลฯ มีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราวต่อฝ่ายไทย สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
๑. รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เกริ่นนำ โดยสรุปเกี่ยวกับมาตรการชั่วคราวที่ฝ่ายกัมพูชาได้ขอให้ศาลโลกมีต่อฝ่ายไทย ซึ่งได้แก่ (๑) ให้ฝ่ายไทยถอนกำลังทั้งหมดจากส่วนต่าง ๆ ของดินแดนกัมพูชาในพื้นที่ปราสาทพระวิหารทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข (๒) ห้ามไทยมีกิจกรรมทางทหารใด ๆ ในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และ (๓) ให้ไทยงดการกระทำหรือการดำเนินการใด ๆ ที่กระทบสิทธิของกัมพูชาหรือเพิ่มความขัดแย้งในคดีการตีความ จนกว่าศาลโลกจะตีความคำพิพากษาแล้วเสร็จ นอกจากนี้ ได้สรุปภาพรวมเกี่ยวกับข้อต่อสู้ของฝ่ายไทยซึ่งประกอบด้วย (๑) ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคำขอของฝ่ายกัมพูชา (๒) คำร้องของฝ่ายกัมพูชาเรื่องการขอให้มีมาตรการชั่วคราว ไม่เกี่ยวกับการตีความของพื้นที่ใกล้เคียง (vicinity) (๓) ไม่มีความเร่งด่วน (๔) เป็นการร้องขอให้ฝ่ายไทยปฏิบัติฝ่ายเดียว ไม่มีความสมดุล
๒. ศาลโลกมีคำสั่ง ดังนี้
๒.๑ ปฏิเสธที่จะจำหน่ายคดีออกจากศาลโลกตามคำขอของฝ่ายไทย
๒.๒ ศาลโลกได้ออกมาตรการชั่วคราวซึ่งประกอบด้วย
(๑) ให้ทั้งสองฝ่ายถอนกำลังทหารออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราวโดยทันที ตามขอบเขตของพื้นที่ที่ศาลโลกได้กำหนด รวมทั้งให้ละเว้นจากการวางกำลังทหารในเขตดังกล่าว และการดำเนินกิจกรรมทางอาวุธใด ๆ ต่อเขตดังกล่าว
(๒) ให้ฝ่ายไทยไม่ขัดขวางฝ่ายกัมพูชาในการเข้าออกปราสาทพระวิหาร รวมทั้งการส่งเสบียงอาหารให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่ทหารของฝ่ายกัมพูชาในปราสาทพระวิหาร
(๓) ให้ไทยและกัมพูชาดำเนินความร่วมมือกันต่อไปในกรอบของอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอนุญาตให้คณะผู้สังเกตการณ์อาเซียนสามารถเข้าไปยังเขตปลอดทหารชั่วคราวดังกล่าวได้
(๔) ให้ไทยและกัมพูชาละเว้นจากกิจกรรมใด ๆ ที่จะทำให้สถานการณ์ข้อพิพาทเลวร้ายหรือรุนแรงมากขึ้น หรือทำให้ปัญหาข้อพิพาทมีความยากลำบากยิ่งขึ้นที่จะแก้ไข
๒.๓ ฝ่ายไทยและกัมพูชาจะต้องแจ้งต่อศาลโลกถึงการปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวดังกล่าว (ในข้อ ๒.๒)
๒.๔ ศาลยังคงอำนาจในการพิจารณาเรื่องคำสั่งมาตรการชั่วคราวต่อไปได้ จนกว่าศาลโลกจะมีคำตัดสินกรณีที่ฝ่ายกัมพูชาขอให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี ๒๕๐๕
๓. รัฐมนตรีว่าการฯ ได้รายงานคำสั่งศาลโลกดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี และได้มอบหมายให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่บาหลี แจ้งผลคำตัดสินของศาลโลกข้างต้นต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และให้เข้าพบหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน
๔. เกี่ยวกับการอนุญาตให้คณะผู้สังเกตการณ์ของอาเซียนเข้าพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารนั้น ฝ่ายไทยไม่ขัดข้อง
๕. รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ฝ่ายไทยเคารพคำสั่งของศาลและจะปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีอยู่ภายใต้กฎบัตรของสหประชาชาติ ทั้งนี้ ไทยมีความพอใจต่อคำสั่งของศาลโลกดังกล่าว เพราะมีผลให้ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตาม ในขณะที่คำขอของฝ่ายกัมพูชาได้ขอให้ฝ่ายไทยเป็นฝ่ายปฏิบัติเพียงฝ่ายเดียว โดยคำสั่งกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการตีความของศาลโลกกรณีที่ฝ่ายกัมพูชาขอให้ตีความเกี่ยวกับขอบเขต (vicinity) ของปราสาทฯ นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับท่าทีที่ฝ่ายไทยยืนยันมาโดยตลอด ทั้งในแง่ของการให้ฝ่ายกัมพูชาถอนกำลังทหารออกจากบริเวณปราสาทพระวิหารและวัดแก้วสิกขาคีรีสะวารา รวมทั้งให้มีการเจรจาหารือกันผ่านกลไกในกรอบทวิภาคีที่มีอยู่
๖. สำหรับการดำเนินการภายในของฝ่ายไทยต่อคำสั่งของศาลโลก รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า จะมีการหารือกันระหว่างหน่วยงานความมั่นคงของไทย และจะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเกี่ยวกับการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ในส่วนของรัฐสภานั้น จะรายงานต่อคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของวุฒิสภา
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--