เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวหลังเดินทางกลับจากนครมิวนิค กรณีมาตรการชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ สรุปได้ ดังนี้
๑. การที่ศาลโลกมีคำสั่งให้ทั้งสองฝ่ายถอนกำลังทหารออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราว รวมถึงตำรวจตระเวนชายแดนหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องรอหารือกันในรายละเอียดกับฝ่ายกัมพูชา และยังมีรายละเอียดอื่น ๆ อีก เช่น จะติดอาวุธอะไรได้บ้าง รวมถึงเรื่องบุคลากรที่จะไปดูแลรักษาประสาทพระวิหาร และเรื่องหน่วยดูแลรักษาความปลอดภัย ซึ่งจำนวนอาสาสมัครชายแดนและตำรวจของทั้งสองฝ่ายก็ต้องทัดเทียมกัน
๒. คณะผู้สังเกตการณ์ของอินโดนีเซียก็เป็นเรื่องของรายละเอียดที่ต้องหารือกัน ซึ่งหวังว่า รัฐมนตรีกลาโหมของไทยและกัมพูชาจะได้พบปะกันในโอกาสแรก ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๔ จะมีการประชุมเตรียมการของกระทรวงฯ และในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔ จะมีการประชุมของหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับคำสั่งของศาลโลก และแนวทางในการหารือกับฝ่ายกัมพูชา
๓. ในเมื่อศาลโลกได้มีคำสั่งกำหนดพื้นที่ปลอดทหารแล้ว ชุดข้อตกลงที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย กัมพูชา และอินโดนีเซีย ได้หารือร่วมกันเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย จึงหมดความหมายไปโดยปริยาย และจำเป็นต้องเอาคำสั่งของศาลโลกเป็นที่ตั้ง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ ได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียในเบื้องต้นเกี่ยวกับคำสั่งของศาลโลกในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ส่วนก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ได้มีคณะสำรวจเบื้องต้นของสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทยลงไปดูพื้นที่ที่คณะผู้สังเกตการณ์จะเข้ามาประจำ และได้หารือกันในเรื่องของที่พัก สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ตลอดจนรายละเอียดอื่น ๆ
๔. เมื่อศาลโลกมีคำสั่งเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔ สิ่งที่ต้องดำเนินการเป็นลำดับแรกคือ เรื่องคณะผู้สังเกตการณ์ของอินโดนีเซีย ซึ่งขั้นตอนที่ยังเหลืออยู่เป็นเรื่องรายละเอียดที่ฝ่ายไทยต้องหารือกับฝ่ายกัมพูชาต่อไป ทั้งนี้ เนื่องจากคำสั่งของศาลมีเนื้อหาที่อยู่นอกขอบเขตของอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชายแดนทั่วไปหรือ GBC ฝ่ายไทยจึงอยู่ระหว่างการตั้งคณะทำงานขึ้นมาใหม่ ซึ่งหน่วยงานหลักจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานทางด้านความมั่นคง โดยจะได้มีการหารือเรื่องนี้ในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔
๕. การเจรจาระหว่างกันเป็นแนวทางเดียวที่จะทำให้สามารถปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวได้ ซึ่งการเจรจาทวิภาคีก็เป็นนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันมาโดยตลอด และรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อไปก็น่าจะสานต่อนโยบายนี้
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--