นายฐากูร พานิชกุล นักออกแบบระดับโลกเน้นย้ำ ไทยมีศักยภาพด้านผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องประดับไทย ระหว่างการเข้าชมสินค้าชุมชนท้องถิ่นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน

ข่าวต่างประเทศ Tuesday July 26, 2011 15:27 —กระทรวงการต่างประเทศ

นายฐากูร พานิชกุล นักออกแบบเครื่องแต่งกายที่มีชื่อเสียงระดับโลก ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับศักยภาพของผ้าไทยในโอกาสที่ได้เข้าชมผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องประดับไทย ที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ในระหว่างการเดินทางมายังประเทศไทยตามคำเชิญของกระทรวงการต่างประเทศว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและคนไทยก็มีความเชี่ยวชาญพิเศษในด้านผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องประดับไทย จึงควรรักษาสิ่งนี้ไว้ ในขณะเดียวกัน ต้องมีแนวความคิดที่จะพัฒนาสู่ความเป็นสากลแต่คงรากเหง้าของความเป็นไทยไว้

เมื่อวันที่ ๑๖-๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔ นางสาววิมล คิดชอบ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางพร้อมกับนายฐากูรฯ เพื่อเข้าชมผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องประดับไทย ที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างตราสินค้าให้กับสินค้าชุมชนท้องถิ่น (Branding Project) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงฯ กับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization - WIPO) และร่วมสนับสนุนโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์

ในโอกาสนี้ นายฐากูรฯ ได้เข้าชมแหล่งผ้าขึ้นชื่อของไทย ทั้งผ้าตีนจกแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และผ้าไหมยกดอกลำพูน นอกจากนี้ นายฐากูรได้มีโอกาสเข้าชมหมู่บ้านวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตเครื่องเงินอีกด้วย

ในการสัมมนา “อัตลักษณ์ผ้าไทย กรุ่นกลิ่นอายล้านนา ผสานภูมิปัญญาสู่สากล” ซึ่งจัดโดยกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและแรงผลักดันให้ดีไซเนอร์ไทยรุ่นใหม่ ๆ มีความกล้าเพื่อก้าวสู่วงการออกแบบระดับโลกต่อไป นายฐากูรฯ ได้ถ่ายทอดมุมมองและประสบการณ์ในวงการแฟชั่นให้กับดีไซเนอร์หน้าใหม่ของไทยกว่า ๑๐๐ คน ซึ่งนายฐากูรฯ เน้นความสำคัญของการสร้างจุดแข็งให้กับสินค้า การค้นคว้าพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง ตลอดจนได้มีโอกาสชมการนำเสนอผลงานของนักออกแบบสามคน ได้แก่ นายสุเมธ พันธุ์แก้ว (ด้านเครื่องแต่งกาย) นางสมศรี ผิวอ่อน (ด้านเครื่องประดับ) และ นายสุกฤษณ์ แก้วดำ (ด้านการออกแบบเนื้อผ้า) ซึ่งนายฐากูรฯ ให้ความสนใจและชื่นชมแนวคิดแปลกใหม่และสร้างสรรค์ของนักออกแบบทั้งสามคน เนื่องจากเป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดที่มีพื้นฐานมาจากการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งสิ้น

นายฐากูรฯ ได้ให้ข้อคิดที่สำคัญว่า ควรทำงานด้วยใจรักที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นแรงผลักดัน และย้ำว่า นักออกแบบไม่เพียงต้องเปิดกว้างทางความคิด แต่ต้องมาพร้อมกับแนวความคิดใหม่ๆ และเรียนรู้อยู่เสมอ ส่วนมุมมองต่อวงการแฟชั่นนั้น นายฐากูรฯ มองว่าต้องสร้างความสมดุลระหว่างความเป็นธุรกิจกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ และในวงการแฟชั่น ไม่มีชนชั้น ไม่มีการกีดกัน มีเพียงผลงานเท่านั้นที่จะตัดสินความสำเร็จ

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ