การประชุมคณะทำงานเพื่อความร่วมมือไทย - ยูนนาน ครั้งที่ ๔

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 10, 2011 11:48 —กระทรวงการต่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลมณฑลยูนนานจะจัดประชุมคณะทำงานร่วมกันครั้งที่ ๔ เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ไทย-ยูนนาน โดยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ของถนนเส้นทาง R3A ในเรื่องการคมนาคมขนส่งทั้งคนและสินค้า และการอำนวยความสะดวกด้วยโลจิสติกส์ต่าง ๆ ความร่วมมือในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน อาทิ การส่งเสริมการค้า การลงทุน การเกษตร การสาธารณสุข การท่องเที่ยว การศึกษาและวัฒนธรรม เป็นต้น รวมทั้งยังเน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและการพัฒนาอย่างยั่งยืน การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรและการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีอีกด้วย

ในวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๔ ประเทศไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานเพื่อความร่วมมือกับมณฑลยูนนาน ครั้งที่ ๔ ที่กระทรวงการต่างประเทศ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องจากสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดภาคเหนือของไทยและมณฑลยูนนานเอื้อให้ประชาชนในพื้นที่มีการเยี่ยมเยือนไปมาหาสู่กันอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้ความร่วมมือระหว่างจังหวัดภาคเหนือของไทยกับมณฑลยูนนานมีความคืบหน้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันนี้ คือ การพัฒนาเส้นทางเชื่อมไทย-จีน ที่สำคัญ คือ เส้นทาง R3A หรือเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพฯ ระยะทาง ๑,๘๘๘ กม. ซึ่งเปิดใช้ได้ตั้งแต่ ปี ๒๕๕๑ เป็นต้นมา และยังมีความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน รวมถึงการบังคับใช้พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการตรวจสอบและกักกันโรคสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างไทยและจีนบนเส้นทาง R3A (หมายเหตุ ๑) (ลงนามเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔) ทำให้การค้าระหว่างกันขยายตัวและราบรื่นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรทั้งผักผลไม้และดอกไม้ของเกษตรกรสองฝ่าย ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางเพียง ๓ วัน และในอนาคตอันใกล้นี้ สะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ ๔ ระหว่างเชียงของกับห้วยทราย ซึ่งรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนร่วมกันก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จอีกด้วย ซึ่งจะทำให้การติดต่อไปมาหาสู่และการขนส่งสินค้าระหว่างกันเป็นไปโดยสะดวกมากยิ่งขึ้น

คณะทำงานเพื่อความร่วมมือไทย-ยูนนานนี้ เป็นกลไกความร่วมมือแรกที่ไทยมีกับระดับมณฑลของจีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับมณฑลยูนนาน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของสองฝ่าย กล่าวคือ ไทยมุ่งที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับรายมณฑลของจีนเพื่อเจาะลึกขยายผลความร่วมมือที่ลึกซึ้งและเป็นรูปธรรมในระดับมณฑล เนื่องจากจีนมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ในขณะที่จีนมียุทธศาสตร์มุ่งลงใต้ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์หัวสะพานของมณฑลยูนนานที่เน้นการเชื่อมโยงคมนาคม การค้าและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมณฑลยูนนานประกาศ ใช้แผนยุทธศาสตร์ฯ นี้แล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา

ในการประชุมวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๔ นี้ นายภาสกร ศิริยะพันธุ์ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกจะเป็นประธานร่วมกับมาดามโจว หง อธิบดีสำนักงานการต่างประเทศในการประชุมคณะทำงานเพื่อความร่วมมือไทย (ภาคเหนือ) — ยูนนาน ครั้งที่ ๔ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย ประมาณ ๙๐ คน คณะทำงานฯ จะหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน (หมายเหตุ ๒) เช่น การค้าและการลงทุน การท่องเที่ยว สาธารณสุข พลังงานสีเขียว การพัฒนาการใช้เงินหยวนในการชำระบัญชีการค้าระหว่างกัน และการต่อต้านการค้ามนุษย์ นอกจากนั้น ทั้งไทยและมณฑลยูนนานต้องมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์สูงสุดจากถนนเส้นทาง R3A ในเรื่องการคมนาคมขนส่งทั้งคนและสินค้า และการอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ต่าง ๆ ระหว่างกัน เพื่อขยายเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยจะมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและการพัฒนาอย่างยั่งยืน การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร และการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย

ในปี ๒๕๕๓ การค้าไทย-ยูนนาน มีมูลค่า ๔๖๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๒ ร้อยละ ๙๖.๖ นอกจากนี้ คนไทยยังนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวที่มณฑลยูนนานถึง ๓๐๖,๗๑๔ คน เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๒ ร้อยละ ๔๑.๘ โดยคนไทยเป็นชาวต่างชาติที่เยือนยูนนานจำนวนมากที่สุด ส่วนชาวยูนนานมาท่องเที่ยวที่ไทยจำนวน ๔๑,๖๑๐ คน เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๒ ร้อยละ ๖๒.๒

หมายเหตุ

๑ ลงนามเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ สาระสำคัญคือ การกำหนดมาตรฐานการส่งออกและนำเข้าผลไม้ระหว่างไทยกับจีน โดยใข้การขนส่งบนเส้นทาง R3A โดยพิธีสารกำหนดให้สองฝ่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับทะเบียนรายชื่อสวน การบรรจุหีบห่อและบรรจุภัณฑ์ การติดฉลากระบุประเภทสินค้า การควบคุมสุขอนามัยพืช รวมทั้งห้ามเปิดตู้ผลไม้ระหว่างการขนส่งผ่านประเทศที่ ๓ สำหรับการขนส่งทางบกในเส้นทางเชียงของ (ไทย)-ห้วยทราย(ลาว)-บ่อเต้น(ลาว)-โม่หาน(จีน) ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาสิ่งปลอมปนในสินค้าเกษตรจากการขนส่งผ่านลาว และสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของผลไม้ระหว่างไทยกับจีน

๒ จำนวน ๙ สาขา ได้แก่ การส่งเสริมการค้า การลงทุน การอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้า การเกษตร สาธารณสุข เมืองพี่เมืองน้อง การท่องเที่ยว การศึกษาและวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ