เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๔ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุม United Nations Democracy Caucus ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันประเด็นเกี่ยวกับประชาธิปไตยในเวทีสหประชาชาติ โดยในปีนี้หัวข้อหลักของการประชุม คือ การศึกษาเพื่อประชาชน (Education for Democracy)
ในการประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการฯ ได้มีคำกล่าวเน้นย้ำความเป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบของไทย โดยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากนั้นได้แสดงความพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาการด้านประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษาเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตย อีกทั้งได้กล่าวสนับสนุนบทบาทของ Community of Democracies ในการส่งเสริมศักยภาพให้กับสังคมประชาธิปไตยในภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนสามารถขับเคลื่อนได้อย่างเข้มแข็ง สมดุล และยั่งยืน
นอกจากการเข้าร่วมการประชุมแล้ว รัฐมนตรีว่าการฯ ได้หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล เมียนมาร์ และรัสเซีย โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ในการหารือกับนาย Avigdor Liberman รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวขอบคุณที่รัฐบาลอิสราเอลให้การต้อนรับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี อย่างสมพระเกียรติเมื่อครั้งเสด็จเยือนอิสราเอลเมื่อเดือนพฤษภาคม ศกนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือในเรื่องทั่วไปของความสัมพันธ์ไทย — อิสราเอล โดยเฉพาะในเรื่องช่องทางในการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แสดงความขอบคุณรัฐบาลอิสราเอลที่ดูแลแรงงานไทยและหวังว่ารัฐบาลอิสราเอลยังคงพิจารณารับแรงงานไทยเข้าทำงาน พร้อมทั้งช่วยดูแลสิทธิ สวัสดิการและสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานไทย และรับทราบในข้อห่วงกังวลของรัฐบาลอิสราเอลเกี่ยวกับข้อมติเรื่องการรับรองรัฐปาเลสไตน์ โดยไทยจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ
สำหรับการหารือกับนายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาร์ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้าน และยินดีที่ความสัมพันธ์และความร่วมมือทวิภาคีของทั้งสองประเทศมีพัฒนาการและความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง ความร่วมมือในเรื่องการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาร์ และการป้องกันการค้ามนุษย์ การสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย และได้เสนอให้มีการจัดประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย — เมียนมาร์ ครั้งที่ ๗ ขึ้นในโอกาสแรก นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้สอบถามถึงความเป็นได้ในการเปิดจุดผ่านแดนถาวรเมียวดี โดยฝ่ายเมียนมาร์รับที่จะแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะเปิดจุดผ่านแดนดังล่าว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความมั่งคงในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
ในเรื่องพัฒนาการประชาธิปไตยและกระบวนการปรองดองแห่งชาติในเมียนมาร์ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แสดงความยินดีกับพัฒนาการต่างๆ โดยได้แสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนกระบวนการดังกล่าวในเมียนมาร์ต่อไป ทั้งนี้ ความมั่นคงและความมั่งคั่งของเมียนมาร์ คือ ความมั่นคงและความมั่งคั่งของประเทศไทยเช่นกัน พร้อมทั้งแจ้งให้ฝ่ายเมียนมาร์ทราบว่า ในหลักการไทยพร้อมให้การสนับสนุนเมียนมาร์ในการเป็นประธานอาเซียนของเมียนมาร์ในปี ๒๕๕๗
ในการพปปะหารือกับนายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ยืนยันความตั้งใจของไทยที่จะสานต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือกับรัสเซียในเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน และเห็นควรให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงมากยิ่งขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายพอใจที่มูลค่าการค้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ ๙๐ เป็น ๔,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีที่แล้ว ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้ขอความร่วมมือฝ่ายรัสเซียในการเปิดโอกาสให้สินค้าเกษตรของไทยเข้าสู่ตลาดของรัสเซียมากยิ่งขึ้นด้วย
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ยืนยันความพร้อมของไทยที่จะเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยคณะรัฐมนตรีทวิภาคีไทย - รัสเซีย ครั้งที่ ๕ (Joint Thai - Russian Commission on Bilateral Cooperation) ที่ฝ่ายรัสเซียจะเป็นเจ้าภาพในปี ๒๕๕๕ และยินดีที่รัสเซียได้เข้ามามีบทบาทในกรอบความร่วมมือพหุภาคีในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะการประชุม East Asia Summit (EAS) มากขึ้น
ในเย็นวันเดียวกันนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เดินทางเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองของเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation — OIC) และพบปะผู้นำชุมชนไทยในนครนิวยอร์ก
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--