รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวถ้อยแถลงของไทยในสหประชาชาติ

ข่าวต่างประเทศ Thursday September 29, 2011 11:17 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๔ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถ้อยแถลงของไทยในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๖๖ ณ นครนิวยอร์ก

ในถ้อยแถลงดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ปี ๒๕๕๔ เป็นปีที่ต้องจารึกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เนื่องจากเหตุการณ์ “ใบไม้ผลิแห่งอาหรับ” (Arab Spring) ได้แสดงความสำคัญของความปรารถนาของประชาชนและความจำเป็นที่ต้องสนองตอบต่อความปรารถนาเหล่านั้น ปรากฎการณ์ดังกล่าวได้แสดงถึงความท้าทายสำหรับทุกรัฐบาลที่จะต้องมีระบบทั้งภายในและระหว่างประเทศเพื่อให้ความมั่นใจว่าเสียงของประชาชน ความเดือดร้อน ความกังวล และความปรารถนาของประชาชนทุกคนจะได้รับความเคารพ และตอบสนอง

ไทยได้ก้าวไปข้างหน้าแล้วอีก ๑ ก้าวในกระบวนการประชาธิปไตยกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ที่ราบรื่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการกลับไปสู่ประชาธิปไตย ทั้งนี้ รัฐบาล ซึ่งได้รับการจัดตั้งจากอำนาจของประชาชน มีความมุ่งมั่นจะดำเนินนโยบายที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเน้นโครงสร้างพื้นฐานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เท่าเทียม และแข็งแกร่ง รวมถึงการสนับสนุนความปรองดองแห่งชาติ และยึดมั่นหลักกฎหมายในการทำงานบนพื้นฐานของเอกภาพและความสมานฉันท์ภายในประเทศ

ในด้านการต่างประเทศของไทยนั้น รัฐบาลจะส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงมิตรประเทศนอกภูมิภาค และไทยจะแสดงบทบาทที่รับผิดชอบและสร้างสรรค์ในระเบียบโลกปัจจุบัน ซึ่งควรจะครอบคลุมและตอบสนองต่อประเทศและภาคประชาสังคมต่างๆ ให้มากขึ้น นอกจากนี้ ไทยจะให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา การช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการพัฒนาศักยภาพ เพื่อรับมือกับสิ่งท้าทายของโลก และการปรับปรุงความสัมพันธ์ในการทำงานกับประเทศและภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ

สามเสาหลักของสหประชาชาติ กล่าวคือ สันติภาพและความมั่นคง การพัฒนา และสิทธิมนุษยชน เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันและเสริมสร้างซึ่งกันและกัน และต้องมีการดำเนินการอย่างครอบคลุม เพื่อจะบรรลุผลสำเร็จของเป้าหมาย “ความมั่นคงของมนุษย์” สำหรับประชาชนของเรา

ในด้านสันติภาพและความมั่นคงนั้น ประเด็นสำหรับการประชุมสมัชชาครั้งนี้ เป็นสิ่งที่เหมาะสมแก่เวลา เนื่องจากการไกล่เกลี่ยเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ ทั้งนี้ ไทยเชื่อว่าการแก้ปัญหาโดยสันติเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ต้องการที่สุดเมื่อคำนึงถึงชีวิตมนุษย์และงบประมาณ อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ เพื่อคงไว้ซึ่งเสถียรภาพในความขัดแย้ง และสังเกตุการณ์สันติภาพ ยังเป็นสิ่งจำเป็น ในการนี้ ไทยยังคงสนับสนุนอย่างแข็งขันการปฏิบัติการด้านสันติภาพโดยรวม และภารกิจรักษาสันติภาพ นอกจากนี้ ได้ส่งกองกำลัง ๒ กลุ่มในการปฏิบัติภารกิจต่อต้านโจรสลัด เพื่อร่วมกับประเทศต่างๆ ในการลาดตระเวณและป้องกันการโจมตีเรือจากฝ่ายโจรสลัดในอ่าวเอเดน

พื้นฐานสำคัญสำหรับสันติภาพในระยะยาว คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ในเรื่องหลักการของนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมนั้น ไทยได้นำแนวทาง “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” มาใช้เป็นเวลานานแล้ว และได้ยึด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเน้นการดำรงชีวิตในทางสายกลาง และการสร้างสมดุลระหว่างความเติบโตทางเศรษฐกิจและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และถึงแม้ว่าไทยจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษส่วนใหญ่ก่อนกำหนดแล้ว ไทยก็ยังคงดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายฯ เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ทั้งสันติภาพและความมั่นคง รวมถึงการพัฒนา ไม่สามารถยั่งยืน ถ้าการเคารพสิทธิมนุษยชนยังล้าหลัง สำหรับไทยนั้น ประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นวาระสำคัญของนโยบายภายในและนโยบายต่างประเทศ ไทยยังคงมุ่งมั่นแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะผ่านการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งไทยจะลงสมัครสมาชิกอีกครั้งในช่วงปี ๒๕๕๘ — ๒๕๖๐

รัฐมนตรีว่าการฯ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการเสริมสร้างสิทธิของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้รับรองข้อกำหนดของสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” ซึ่งเกิดจากโครงการพระดำริในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และไทยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ ทั่วโลก และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การมีนายกรัฐมนตรีผู้หญิง ก็เป็นการยืนยันว่าสังคมไทยได้เปิดกว้างต่อผู้หญิง รวมถึงความเท่าเทียมกันทางเพศ และการให้อำนาจแก่ผู้หญิง ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

รัฐมนตรีว่าการฯ ได้สรุปว่า สหประชาชาติเป็นเสาหลักสำคัญของนโยบายต่างประเทศของไทย และไทยเป็นผู้ที่มีบทบาทในสามเสาดังกล่าว ดังนั้น ไทยจึงได้แสดงความตั้งใจในการสมัครเป็นสมาชิกไม่ถาวร ในช่วงปี ๒๕๖๐-๒๕๖๑ ซึ่งจะทำให้ไทยเติมเต็มความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกับสมาชิกสหประชาชาติอย่างใกล้ชิด ในการเสริมสร้างระบบพหุภาคี สันติภาพ และความมั่นคง สำหรับผลประโยชน์ร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศและมนุษยชาติ

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ