นายยูกิยะ อะมาโนะ ผู้อำนวยการใหญ่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) เดินทางเยือนประเทศไทย เมื่อวันที่ ๔-๖ ตุลาคม ๒๕๕๔ ในฐานะแขกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
โดยเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๑.๕๐ น. ผู้อำนวยการ IAEA ได้เข้าพบนายพิเชษฐ์ หวังเทพ-อนุเคราะห์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ต่อมาเวลา ๑๔.๐๐ น. ผู้อำนวยการใหญ่ IAEA ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนร่วมกับนายชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และนายนายชุตินทร คงศักดิ์ รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
๑. เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้แจ้งเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างไทย กับ IAEA ว่า สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นหน่วยประสานงานหลักของไทยกับ IAEA ซึ่งมีหน้าที่ควบคุม กำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ให้เป็นตามมาตรฐานเป็นสากล และมีความปลอดภัย ทั้งนี้ ไทยเป็นสมาชิกก่อตั้งของ IAEA ลำดับที่ ๕๘ เมื่อปี ๒๕๐๐ โดยไทยและ IAEA มีความร่วมมือที่ดีระหว่างกัน โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข การเกษตร สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรม โดยทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือระหว่างกันตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น ๓๐๐ โครงการ และยังมีโครงการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรอีกจำนวนมาก
๒. ผู้อำนวยการใหญ่ IAEA แจ้งว่า วัตถุประสงค์ในการเยือนประเทศไทยครั้งนี้ เป็นการพบปะกับผู้กำหนดนโยบาย แพทย์ และวิศวกร เพื่อประสานงานและหารือความร่วมมือระหว่างไทยกับ IAEA ทั้งนี้ ไทยเป็นหุ้นส่วนสำคัญของ IAEA มาเป็นเวลานาน และเป็นประเทศที่ให้คำมั่นที่จะใช้พลังงานปรมาณูเพื่อสันติเท่านั้น โดยในระหว่างการเยือนนั้น ได้หารือเกี่ยวกับโครงการใหม่ คือ การใช้เทคนิคแบบ Isotope และลายนิ้วมือ ในการประเมินความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ
๓. นอกจากนี้ ผู้อำนวยการใหญ่ IAEA แจ้งว่า กรณีปัญหาของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ นั้น ต้องใช้เวลานานในการแก้ไขปัญหา โดย ๖ เดือนหลัง จากเกิดเหตุการณ์ IAEA ได้ประเมินว่า เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อยู่ในสภาพปกติ ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ควบคุมสถานการณ์อย่างเต็มที่ แม้กรณีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะจะทำให้บางประเทศตัดสินใจระงับการใช้พลังงานนิวเคลียร์ แต่บางประเทศก็ยังคงเลือกที่จะใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นทางเลือก โดยข้อมูลของ IAEA ระบุว่า ปัจจุบันมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั่วโลกทั้งหมด ๔๓๒ เตา และจากการคาดการณ์ของ IAEA ภายในปี ๒๕๗๓ (ค.ศ. ๒๐๓๐) ทั่วโลกจะมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพิ่มขึ้นอย่างน้อย ๙๐ เตา และอาจเพิ่มสูงถึง ๓๕๐ เตา
๔. IAEA มีนโยบายไม่แทรกแซงการตัดสินใจการใช้พลังงานนิวเคลียร์ของแต่ละประเทศ แต่หากได้ตัดสินใจที่จะใช้พลังงานนิวเคลียร์แล้ว IAEA พร้อมที่จะสนับสนุนการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืน ทั้งนี้ การรักษาความปลอดภัยจากการใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นภารกิจหลักของแต่ละประเทศ แต่ IAEA ยินดีให้ความช่วยเหลือ โดยได้จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความปลอดภัยทางนิวเคลียร์
๕. ต่อข้อซักถามของสื่อมวลชน ในประเด็นต่างๆ อาทิ
- ภารกิจของผู้เชี่ยวชาญของ IAEA ที่จะเดินทางไปที่ประเทศญี่ปุ่น ผู้อำนวยการใหญ่ IAEA ได้ตอบว่า การส่งผู้เชี่ยวชาญเดินทางไปญี่ปุ่นเป็นไปตามคำร้องขอของรัฐบาลญี่ปุ่น และเป็นการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ซึ่งแม้ว่าเตาปฏิกรณ์จะอยู่ในสภาพปกติ แต่ประชาชนญี่ปุ่นยังคงมีความกังวลในเรื่องของปัญหาการปนเปื้อนของกัมตภาพรังสี ดังนั้น IAEA จึงจะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจดูข้อเท็จจริง เพื่อให้คำแนะนำแก่รัฐบาลญี่ปุ่น และเรียนรู้เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ให้แก่ประเทศสมาชิกอื่นๆ
- ความกังวลของ IAEA ต่อการใช้พลังงานนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือและการให้เกาหลีเหนือหันมาใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ ผู้อำนวยการใหญ่ IAEA ได้ตอบว่า เกาหลีเหนือต้องปฏิบัติตามคำมั่นในเรื่องการลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี และการประชุม ๖ ฝ่าย ยังเป็นกรอบที่มีประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจระหว่างกัน โดยในเรื่องนี้ IAEA มีบทบาทสำคัญในการตรวจพิสูจน์การใช้อาวุธนิวเคลียร์
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--