เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับรายงานข่าวว่า สหรัฐฯ ได้ถอนเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งออกจากประเทศไทย เนื่องจากทางการไทยมิได้ขอรับความช่วยเหลือจากทางการสหรัฐฯ ในกรณีอุทกภัยที่เกิดขึ้น สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
๑. สืบเนื่องจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น ทางการสหรัฐฯ ได้เสนอให้ความช่วยเหลือไทยในรูปแบบต่าง ๆ โดยในเบื้องต้น เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๔ สหรัฐฯ ได้บริจาคเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ๓ ล้านบาท) ผ่านสภากาชาดไทย และต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๔ ได้บริจาคอีกจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ๑๕ ล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยผ่านองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration — IOM) เพื่อจัดซื้อสิ่งของบรรเทาทุกข์
๒. นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๔ ทางการสหรัฐฯ โดยหน่วยงานด้านการจัดการฉุกเฉินของรัฐบาลสหรัฐฯ หรือ Federal Emergency Management Agency (FEMA) ได้ประชุมทางโทรศัพท์กับฝ่ายไทย โดยหน่วยงานดังกล่าว แสดงความพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์กับฝ่ายไทยในเรื่องการฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยและการบริหารจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ
๓. อีกทั้ง เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ ทางการสหรัฐฯ ได้ส่งเครื่องบิน C -๑๓๐ พร้อมถุงทราย ๑๘,๐๐๐ กระสอบ และเจ้าหน้าที่หน่วยประเมินสถานการณ์จากนาวิกโยธินสหรัฐฯ จำนวน ๑๐ นาย มาเพื่อสำรวจแนวทางการให้ ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในประเทศไทย โดยคณะดังกล่าวได้สำรวจพื้นที่ทางอากาศร่วมกับฝ่ายไทยในจังหวัดอ่างทองและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ได้ส่งกองเรือนำโดยเรือบรรทุกเครื่องบิน USS George Washington และเรือสนับสนุนอื่น ๆ มาไทยเพื่อพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจ หากได้รับคำสั่งหลังการประเมินของคณะล่วงหน้าข้างต้น
๔. คณะประเมินล่วงหน้าได้สำรวจสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ที่ประสบภัย ตั้งแต่วันที ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๔ เป็นต้นมา ทั้งทางเฮลิคอปเตอร์และรถยนต์ โดยฝ่ายไทยเป็นผู้อำนวยความสะดวก เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาการกำหนดมาตรการความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการประชุมระหว่างคณะประเมินล่วงหน้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของฝ่ายไทยเพื่อประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการช่วยเหลือของฝ่ายไทย โดยฝ่ายสหรัฐฯ ประเมินว่า การบริหารจัดการของฝ่ายไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสหรัฐฯ ขอเวลาประเมินสถานการณ์เพิ่มเติม
๕. ต่อมา ฝ่ายสหรัฐฯ ประเมินในเบื้องต้นว่า สถานการณ์น้ำท่วมของไทยมิได้รุนแรงถึงขั้นเป็นภัยต่อชีวิตซึ่งตามกฎระเบียบของฝ่ายสหรัฐฯ นั้น ไม่สามารถสั่งการให้เฮลิคอปเตอร์เข้าปฏิบัติภารกิจด้านกู้ภัยทางอากาศได้ โดยเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ เรือบรรทุกเครื่องบิน USS George Washington พร้อมเรือสนับสนุนอีกจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางออกจากประเทศไทยเพื่อปฏิบัติภารกิจอื่นตามที่กำหนดไว้เดิม
๖. อย่างไรก็ดี เรือ USS Mustin พร้อมลูกเรือ ๓๐๐ นาย และเฮลิคอปเตอร์อีก ๒ ลำ ยังเทียบท่าอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อให้ความช่วยเหลือกับผู้ประสบภัยในพื้นที่ และสำรวจและประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ต่อไป นอกจากนี้ ทางสหรัฐฯ ก็ยังให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ ที่สามารถกระทำได้ เช่น กองกำลังภาคพื้นแปซิฟิกสหรัฐฯ (U.S. Pacific Command) ได้สนับสนุนภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของฝ่ายไทย อีกทั้ง ฝ่ายสหรัฐฯ ยังได้ตั้งคณะทำงานด้านสาธารณสุขจากหน่วยงาน Centers for Disease Control ของสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการบริหารจัดการโรคติดต่อที่มาจากน้ำและสถานการณ์สาธารณสุขหลังน้ำลด รวมทั้งอยู่ในระหว่างพิจารณาสนับสนุนในด้านระบบเตือนภัยน้ำท่วมให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติด้วย
๗. กระทรวงการต่างประเทศจึงขอยืนยันว่า ในการรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศสืบเนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยในครั้งนี้ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของไทยได้ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการและได้ประสานกับทางการสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด เกี่ยวกับความพร้อมของสหรัฐฯ ที่จะให้ความช่วยเหลือกับไทย ซึ่งแม้ว่าจะไม่สามารถส่งเฮลิคอปเตอร์เข้าปฏิบัติ ภารกิจกู้ภัยทางอากาศ (Air lift) ได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎระเบียบของสหรัฐฯ เอง แต่ฝ่ายสหรัฐฯ ก็ได้ให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ ทั้งในรูปแบบของเงินบริจาค สิ่งของ และทางวิชาการ อีกทั้ง เรือ USS Mustin และคณะประเมินสถานการณ์ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย เพื่อประเมินว่าจะสามารถให้ความร่วมมือเพิ่มเติมกับฝ่ายไทยตามสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน หรือไม่อย่างไรต่อไป
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--