เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๔ น. พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ศปภ.) พร้อมด้วยนายธงทอง จันทรางศุ โฆษก ศปภ. นายพิเชษฐ์ หวังเทพอนุเคราะห์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และนายสาโรจน์ ธนสันติ รองอธิบดีกรมพิธีการทูต ได้บรรยายสรุปแก่คณะทูตและองค์การระหว่างประเทศจำนวนประมาณ ๘๐ คน เกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
๑. เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่มากผิดปกติ ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัดและไหลเข้าสู่พื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพฯ และโดยที่เป็นช่วงน้ำทะเลหนุน จึงทำให้ระดับน้ำล้นแนวคันกั้นน้ำ และเกิดน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ แต่สามารถแก้ไขปัญหาได้ โดยการระบายออกเวลาน้ำลง สำหรับพื้นที่ตอนในของกรุงเทพฯ นั้น คาดว่าจะมีระดับน้ำท่วมขังประมาณ ๑๐ ซม.- ๑.๕ เมตร ตามระยะใกล้ไกลจากพนังกั้นน้ำและความสูง-ต่ำของพื้นที่ และคาดว่าจะท่วมขังประมาณ ๒ สัปดาห์ - ๑ เดือน ซึ่งเป็นการประเมินในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด
๒. รัฐบาลได้จัดตั้ง ศปภ. เป็นหน่วยงานหลักเพื่อแก้ไขปัญหา และขณะนี้ อยู่ระหว่างการระบายน้ำท่วมขังลงอ่าวไทยโดยเร็ว และได้เตรียมความพร้อมในระยะกลางและระยะยาวในทุกภาคส่วน และหากมีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายประชาชน รัฐบาลก็ได้เตรียมศูนย์พักพิงชั่วคราวไว้แล้ว ที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และมีความปลอดภัย ทั้งนี้ ศปภ. ได้ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศแจ้งเวียนข้อมูลข่าวสารให้คณะทูตและองค์การระหว่างประเทศทราบเป็นระยะแล้ว และสามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงได้ตั้งเครือข่ายการติดต่อประสานงานระหว่างกันด้วยแล้ว นอกจากนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะเป็นหน่วยงานให้บริการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวต่างๆ ด้วย ซึ่งในช่วงนี้ ก็สามารถเดินทางไปจังหวัดต่างๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยได้ อาทิ เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ และเกาะสมุย
๓. สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพฯ ขณะนี้นั้น ไม่ได้ถือเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตอย่างร้ายแรงแต่ประการใด แต่อาจทำให้เกิดความไม่สะดวกในการดำรงชีวิตบ้างเท่านั้น แต่สภาวะน้ำท่วมในกรุงเทพฯ จะเกิดขึ้นอย่างช้า และไม่รวดเร็วเช่นในพื้นที่อื่นๆ รัฐบาลมั่นใจว่าจะสามารถป้องกันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจากเหตุอุทกภัยได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ได้เตรียมความพร้อมสนามบินอู่ตะเภาด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ รัฐบาลขอขอบคุณในความช่วยเหลือที่ประเทศและองค์การระหว่างประเทศต่างๆ เสนอให้ และหวังว่าจะก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้
๔. นอกจากนี้ ภายหลังการบรรยายสรุป ได้มีคณะทูตและองค์การระหว่างประเทศสอบถามเพิ่มเติม อาทิ หากจำเป็นต้องดำเนินการเคลื่อนย้ายประชาชนออกจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีมาตราการรองรับอย่างไร และจะมีปัญหาการขาดแคลนอาหารและน้ำ ในกรุงเทพฯ หรือไม่ รวมถึงจะมีปัญหาการจ่ายกระแสไฟฟ้าหรือไม่ ซึ่งพล.ต.อ. ประชาฯ กล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมการในเรื่องนี้แล้ว ทั้งในด้านการคมนาคมขนส่ง และการจัดหาศูนย์พักพิงชั่วคราว และสำหรับปัญหาการขาดแคลนอาหารและน้ำ นั้น ไม่น่าจะเป็นปัญหา เนื่องจากพื้นที่ประสบอุทกภัยนั้น คิดเป็นประมาณ ๑ ใน ๕ ของประเทศเท่านั้น ดังนั้น จึงสามารถจัดหาอาหารและน้ำจากพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบเข้ามาในกรุงเทพฯ ได้ ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องการในขณะนี้ คือ เครื่องกรองน้ำ เครื่องปั้มน้ำ และเรือ จำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการจัดซื้อแล้ว นอกจากนี้ สำหรับการจ่ายกระแสไฟฟ้านั้น ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ได้รับการยืนยันว่าสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ตามปกติ
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--