คำกล่าวของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ต่อคณะทูตานุทูตและผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ วันศุกร์ที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๕.๐๐ น. ณ ห้องนราธิป กระทรวงการต่างประเทศ

ข่าวต่างประเทศ Monday October 31, 2011 07:53 —กระทรวงการต่างประเทศ

๑. การประเมินสถานการณ์ในภาพรวม

  • สถานการณ์อุทกภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ สาเหตุสำคัญเกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ ปริมาณน้ำฝนตลอดฤดูฝนที่ผ่านมามีจำนวนมากผิดปกติ เป็นเหตุให้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่หลายจังหวัด โดยมีพื้นที่ประสบภัยเริ่มต้นเมื่อประมาณ ๒ เดือนก่อนที่ภาคเหนือตอนล่างของประเทศ จากนั้นน้ำจำนวนมหาศาลนี้ได้ไหลผ่านพื้นที่ทุ่งภาคกลาง และเคลื่อนเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลในขณะนี้ ก่อนที่จะไหลและระบายลงสู่ทะเลอ่าวไทยในวันข้างหน้า
  • การระบายน้ำที่มีจำนวนมาลงสู่อ่าวไทยในขณะนี้ใช้แนวความคิดที่เร่งระบายผ่านเส้นทางหลัก ๓ แนวทาง คือ พื้นที่ด้านตะวันตกของกรุงเทพมหานคร โดยมีแม่น้ำท่าจีนเป็นทางระบายน้ำหลัก พื้นที่ตอนกลางใช้เส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นทางเดินของน้ำ และทางด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานครใช้แม่น้ำบางปะกงและแม่น้ำนครนายกเป็นทางระบายน้ำหลัก
  • อย่างไรก็ดี โดยเหตุที่น้ำมีปริมาณมากผิดปกติกว่าปีก่อนๆ และช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุน ทำให้ระดับน้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลไม่อาจลดลงได้รวดเร็วนัก และมีแนวโน้มที่เห็นได้ชัดเจนว่าจะมีปริมาณน้ำจำนวนหนึ่งไหลเข้าท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเห็นได้แล้วว่าพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพมหานครเริ่มได้รับผลกระทบชัดเจนแล้ว
  • ระดับน้ำทะเลที่หนุนสูงในเวลานี้ ทำให้มีปริมาณน้ำล้นแนวกั้นน้ำเข้าในพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถรับระดับน้ำสูงสุดได้ที่ ๒.๕๐ เมตร ขณะที่ในวันนี้ เนื่องจากน้ำทะเลหนุน ทำให้ระดับน้ำอยู่ที่ ๒.๕๗ เมตร และคาดว่าในวันพรุ่งนี้ระดับน้ำจะอยู่ที่ ๒.๖๕ เมตร สำหรับปริมาณน้ำที่ล้นเข้ามาเช่นนี้ ยังอยู่ในวิสัยที่เรารับมือได้ และจะเร่งสูบหรือระบายออกในช่วงเวลาที่น้ำลง
  • สำหรับพื้นที่ตอนในของกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นที่ทำการของคณะทูตและองค์การระหว่างประเทศส่วนใหญ่ กับทั้งเป็นย่านธุรกิจและสถานราชการสำคัญ มีแนวโน้มตามสมมติฐานกรณีร้ายแรงว่าจะมีน้ำไหลเข้าท่วมขังอยู่ในระดับประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ถึง ๑.๕๐ เมตร มากน้อยตามระยะใกล้ไกลจากพนังกั้นน้ำตอนเหนือ และระดับสูงต่ำของพื้นที่ในกรุงเทพมหานครที่แตกต่างหลากหลายกันไป และมีความเป็นไปได้ที่น้ำจะท่วมขังอยู่เป็นเวลาประมาณสองสัปดาห์ถึงหนึ่งเดือน แต่ทั้งนี้ ผมขอเรียนอีกครั้งหนึ่งว่า ตัวเลขที่กล่าวนี้เป็นสมมติฐานกรณีร้ายแรงที่สุด ซึ่งเป็นการเตรียมการเพื่อความไม่ประมาท
  • สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นพิเศษ น่าจะได้แก่ พื้นที่ที่อยู่ริมแม่น้ำหรือริมคลอง กับทั้งพื้นที่ที่สังเกตเห็นได้ว่าในเวลาฝนตกหนักตามปกติมีน้ำท่วมขังเร็วกว่าพื้นที่อื่น นอกจากนั้น ชุมชนที่เป็นบ้านเรือนขนาดเล็กและมีความแออัด ส่วนใหญ่เป็นบ้านชั้นเดียว แม้น้ำท่วมไม่สูงมากนักก็ย่อมมีความยากลำบากในความเป็นอยู่

๒. มาตรการสำคัญของรัฐบาล

  • รัฐบาลได้มีคำสั่งตั้งแต่วันที่ ๘ ตุลาคม ที่ผ่านมาให้จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย” ขึ้น เพื่อระดมทรัพยากรจากทุกส่วนราชการ ภาคเอกชน และพี่น้องประชาชน เข้าทำงานในเรื่องนี้ โดยมอบหมายให้ผม ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ฯ แห่งนี้
  • ภารกิจหลักที่ ศปภ. ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มีตั้งแต่ความพยายามที่จะระบายน้ำที่ท่วมขังอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ลงสู่อ่าวไทยให้มากและเร็วที่สุดระวังป้องกันให้น้ำที่จะไหลเข้าท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพมหานครไม่ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรง เตรียมการและดำเนินการไปแล้วในบางส่วนเพื่อจัดตั้งศูนย์พักพิง ช่วยเหลือและอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ประสบภัย พร้อมกันนั้นรัฐบาลก็ได้เร่งดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมและกำหนดมาตรการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยครั้งนี้ ทั้งในระยะปานกลางและระยะยาวด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ผู้ประกอบการรายย่อย รวมตลอดถึงประชาชนโดยทั่วไปด้วย
  • สมควรเรียนเพิ่มเติมเป็นพิเศษว่าหากจำเป็นต้องอพยพผู้ประสบอุทกภัยออกจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขณะนี้ทางราชการมีความพร้อมที่จะจัดตั้งศูนย์พักพิงขึ้นในพื้นที่ ๑๐ จังหวัด ที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครและปลอดจากอุทกภัย ซึ่งจะสามารถรองรับผู้ประสบภัยได้ไม่น้อยกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน

๓. การให้ข้อมูลข่าวสารแก่คณะทูตและชาวต่างประเทศ

  • ศปภ. ได้ทำงานโดยใกล้ชิดกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นและทันต่อเหตุการณ์แก่คณะทูต
  • ส่วนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสำหรับชาวต่างประเทศโดยทั่วไปนอกจากคณะทูต กระทรวงการต่างประเทศได้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในลักษณะเดียวกันบนเว็ปไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศด้วยแล้ว และในโอกาสนี้ ผมขอความกรุณาสถานทูตทุกประเทศได้กรุณาเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสำหรับคนชาติของท่านด้วย
  • สมควรกล่าวด้วยว่าภาวะน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครไม่ใช่ภัยคุกคามต่อชีวิต (life threatening) โดยตรง แต่ก็อาจทำให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้ชีวิตโดยปกติ โดยเฉพาะสำหรับชาวต่างประเทศที่อาจไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ และมีปัญหาด้านการสื่อสาร ศปภ.จึงขอแนะนำให้ชาวต่างชาติ ที่ไม่มีกิจธุระจำเป็น ย้ายไปพักอาศัยชั่วคราวในพื้นที่ต่างจังหวัดของประเทศไทยที่สามารถรองรับและให้บริการชาวต่างประเทศได้เป็นอย่างดี เช่น เมืองพัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ และเกาะสมุย เป็นต้น

๔. การประเมินความเสี่ยงของสนามบินสุวรรณภูมิ

  • ศปภ. มีความมั่นใจว่าเราจะสามารถป้องกันสนามบินสุวรรณภูมิจากอุทกภัยครั้งนี้ได้อย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ดี เพื่อความไม่ประมาท สนามบินอู่ตะเภา จังหวัดชลบุรีก็มีความพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่สนามบินเสริมหรือสำรองได้ทุกขณะ

ผมมีความเชื่อมั่นว่าด้วยความพร้อมเพรียงร่วมมือร่วมใจกัน จากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน อาสาสมัคร ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม รวมถึงชุมชนและประชาชนทุกคน พร้อมกับน้ำใจจากประชาคมนานาชาติ จะทำให้เราสามารถก้าวผ่านระยะเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ด้วยความปลอดภัยและมีความเสียหายน้อยที่สุด

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ