นายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๙ และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ ๑๗ - ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ณ บาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยนอกจากการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนด้วยกันเองแล้ว จะมีการประชุมสุดยอดกับประเทศคู่เจรจา ๕ ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย และสหรัฐอเมริกา การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ การประชุมสุดยอดอาเซียน+๓ และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) ซึ่งจะมีผู้นำสหรัฐฯ และรัสเซีย เข้าร่วมด้วยเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ จะมีประชุมกับสภาที่ ปรึษาธุรกิจอาเซียน และการประชุมระดับผู้นำในกรอบอนุภูมิภาคอีก ๑ กรอบ คือ การประชุมสุดยอดประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น
เป้าหมายสำคัญในการเดินทางเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ได้แก่
(๑) การให้ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการฟื้นฟูประเทศภายหลังอุทกภัย ซึ่งได้รับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคมว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการสร้างประชาคมอาเซียน และไทยจะยังคงบทบาทที่สำคัญในเรื่องนี้ต่อไป
(๒) การส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการบริหารจัดการภัยพิบัติในทุกระยะตั้งแต่การเตรียมความพร้อม การบรรเทา และการฟื้นฟู โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในบริบทของการบริหารจัดการภัยพิบัติ
(๓) การย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างประชาคมอาเซียนที่สามารถรับมือกับความท้าทายต่างๆ ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ สภาวะเศรษฐกิจโลก และภัยคุกคามด้านความมั่นคง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่ไทยจะให้ความสำคัญได้แก่ (๑) การส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลและประชาธิปไตย (๒) การผลักดันความเชื่อมโยงทั้งในอาเซียนและนอกอาเซียน และ (๓) การส่งเสริมบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก ซึ่งสอดคล้องกับหัวข้อหลักของการเป็นประธานอาเซียนของอินโดนีเซีย ได้แก่ “ASEAN Community in a Global Community of Nations”
นอกจากนี้ ในการประชุมกับประเทศคู่เจรจา สหประชาชาติ อาเซียน+๓ และ EAS ไทยจะผลักดันประเด็นที่เป็นความสนใจร่วมกันและสอดคล้องกับผลประโยชน์ของอาเซียน อาทิ ความมั่นคงทางอาหาร การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนกับประเทศาคู่เจรจาที่มีอยู่ รวมทั้งประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ
ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๙ และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องครั้งนี้ คาดว่าจะมีการลงนามและรับรองเอกสารผลลัพธ์ทั้งสิ้น ๒๑ ฉบับ เอกสารที่สำคัญ ได้แก่ ปฏิญญาบาหลีว่าด้วยประชาคมอาเซียนในประชาคมโลก ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะร่วมลงนามกับผู้นำประเทศอาเซียนอื่นอีก ๙ ประเทศ นอกจากนี้ จะมีการลงนามของรัฐมนตรีในเอกสารผลลัพธ์ที่สำคัญ ๒ ฉบับ ได้แก่ ความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และปฏิญญาว่าด้วยเอกภาพของอาเซียนในความหลากหลายทางวัฒนธรรม : สู่ความมั่นคงของประชาคมอาเซียน
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--