ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนครั้งที่ ๖ (APSC) และการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ครั้งที่ ๙ (ACC)

ข่าวต่างประเทศ Thursday November 17, 2011 11:00 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ นายจุลพงษ์ โนนศรีชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้เข้าร่วมการประชุมประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนครั้งที่ ๖ (6th ASEAN Political and Security Community - APSC) และการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ครั้งที่ ๙ (9th ASEAN Coordinating Council - ACC) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

๑. การประชุม APSC ซึ่งเป็นเสาการเมืองและความมั่นคงของประชาคมอาเซียน มีประเด็นหลักคือเพื่อติดตาม ทบทวน และกำหนดทิศทางการดำเนินการของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนตามแผนดำเนินงานเพื่อจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC Blueprint) รวมทั้งรับทราบรายงานความคืบหน้าต่าง ๆ ประเด็นสำคัญที่ได้มีการหารือกันอย่างกว้างขวางได้แก่ การส่งเสริมการประสานงานระหว่างองค์กรรัฐมนตรีเฉพาะสาขา และกลไกต่างๆ ภายใต้ APSC โดยเฉพาะในประเด็นที่คาบเกี่ยวกับเสาอื่นๆ อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ และ connectivity เพื่อให้พิจารณาแนวทางส่งเสริมการประสานงานการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในส่วนของไทย ได้ผลักดันเรื่องการเสริมสร้างธรรมาภิบาล และการป้องกันผลกระทบทางลบจากการส่งเสริมความเชื่อมโยงในอาเซียน รวมทั้งสนับสนุนให้อาเซียนจัดทำรายงานทิศทางความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Outlook) ฉบับแรกในปีหน้า เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสเกี่ยวกับการดำเนินการด้านความมั่นคงของแต่ละประเทศในอาเซียน ซึ่งจะเป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน

๒. การประชุม ACC นอกจากจะมีการรับทราบรายงานต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการอาเซียน และคณะกรรมการผู้แทนถาวรอาเซียนแล้ว ยังเป็นการเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดที่กำลังจะมีขึ้น ทั้งด้านกำหนดการและเอกสารผลลัพธ์ต่างๆ ในส่วนของไทย คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบต่อเอกสารผลลัพธ์ที่จะต้องลงนามและรับรองแล้วทุกฉบับ ที่ประชุมมีมติเกี่ยวกับคำขอสมัครเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์เลสเต โดยให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมตามที่สิงคโปร์เสนอ เพื่อศึกษานัยต่างๆ ทั้งการเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม ที่อาจมีต่อประชาคมอาเซียน รวมทั้งให้จัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ (criteria) ที่ประเทศที่สมัครเป็นสมาชิกอาเซียน ต้องดำเนินการ โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะใช้กับประเทศอื่นๆ ที่อาจประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกอาเซียนในอนาคตด้วย ซึ่งผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้ย้ำถึงการสนับสนุนติมอร์ในเรื่องนี้อีกครั้ง และเห็นว่า การศึกษาและการจัดทำหลักเกณฑ์ของคณะทำงานร่วมควรมี timeline ที่ชัดเจน นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับรองระเบียบสำหรับการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศของอาเซียน (Rules of Procedure for the Conclusion of International Agreements by ASEAN) ซึ่งเป็นการกำหนดขั้นตอนสำหรับสำนักเลขาธิการอาเซียนในการจัดทำความตกลงกับประเทศต่างๆ และองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ

๓. อนึ่ง อาเซียนมีกลไกด้านการจัดการภัยพิบัติที่สำคัญ คือ คณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Committee on Disaster Management — ACDM) ปัจจุบัน ACD จัดประชุมไปแล้ว ๑๘ ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ ๙-๑๐ กันยายน ๒๕๕๔ ณ เมืองพัทยา ทั้งนี้ แต่เดิมเป็นกรอบการประชุมระดับที่ประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติ AEGDM (ASEAN Experts Group on Disaster Management- AEGDM) ต่อมาเมื่อปี ๒๕๔๖ ได้ยกระดับเป็นคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ ทั้งนี้ ความตกลงของอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติและตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน (Agreement on Disaster Management and Emergency Response — AADMER) เป็นเอกสารสำคัญในกรอบความร่วมมือความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติฯ มีผลบังคับใช้เมื่อ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๒ โดยมีสาระสำคัญ คือ ๑) การจัดตั้งกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อบรรเทาภัยพิบัติในภูมิภาค ๒) การจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance-AHA Centre) ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และจะมีการลงนามในข้อตกลงเพื่อจัดตั้งศูนย์ AHA อย่างเป็นทางการ โดยผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ๓) การจัดตั้งระบบเตรียมพร้อมเพื่อบรรเทาภัยพิบัติและตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินของอาเซียน (ASEAN Standby Arrangements for Disaster Relief and Emergency Response) ซึ่งเป็นข้อเสนอของไทย ๔) การจัดทำแผนงานอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Regional Programme on Disaster Management-ARPDM) และ ๕) จะจัดตั้งกองทุนด้านการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Disaster Management and Emergency Relief Fund)

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ