เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ เวลา ๑๔.๐๐ — ๑๖.๐๐น. นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน+๓ ครั้งที่ ๑๔ ที่ศูนย์ประชุม Bali Nusa Dua Convention Centre (BNDCC) บาหลี อินโดนีเซีย
สาระสำคัญของการประชุม ได้แก่ (๑) ผู้นำอาเซียน+๓ ยินดีกับพัฒนาการความร่วมมือในกรอบอาเซียน+๓ ในช่วง ๑๔ ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้มีความสำเร็จชัดเจนโดยเฉพาะในด้านความร่วมมือด้านการเงิน และเห็นพ้องให้กระชับความร่วมมือด้านต่างๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างประชาคมเอเชียตะวันออกในระยะยาว (๒) ผู้นำอาเซียน+๓ เห็นชอบร่วมกันที่จะกระชับความร่วมมือด้านการเงิน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินในภูมิภาค โดยใช้ประโยชน์จากมาตรการความร่วมมือต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ Chiang Mai Initiative Multilateralization (CMIM) (๓) ที่ประชุมฯ เห็นพ้องในการส่งเสริมความเชื่อมโยงในอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับภูมิภาค โดยยินดีกับข้อริเริ่มของไทยในเรื่องหุ้นส่วนด้านความเชื่อมโยงอาเซียน+๓ (ASEAN+๓ Partnership on Connectivity) โดยจีนประกาศที่จะจัดประชุมระหว่างประเทศ (symposium) ซึ่งจะต่อยอดให้กับข้อเสนอของไทย (๔) สาขาความร่วมมืออื่นๆ ที่ผู้นำอาเซียน+๓ ให้ความสำคัญ ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร การจัดการภัยพิบัติ การจัดบริหารจัดการน้ำ การเปิดเสรีการค้า รวมทั้งการจัดตั้งกลุ่มวิสัยทัศน์เอเชียตะวันออก รุ่นที่ ๒ เพื่อนำเสนอทิศทางความร่วมมือในอนาคต
นายกรัฐมนตรีได้ผลักดันประเด็นความร่วมมือ ดังนี้ (๑) เสนอให้มอบหมาย รมว.คลัง อาเซียน+3 พิจารณาแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงิน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ภูมิภาคในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของโลก (๒) เสนอให้มีความร่วมมืออาเซียน+๒ ด้านการบริหารจัดการน้ำ โดยเสนอให้มอบหมาย รมต. ที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในด้านนี้ (๓) ยินดีกับการลงนามความตกลงเพื่อจัดตั้งกลไกสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียน+๓ (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve—APTERR) ซึ่งจะมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร และย้ำการสนับสนุนของไทยต่อสำนักงาน APTERR ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ (๔) ผลักดันความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงในกรอบอาเซียน+3 ผ่านแนวคิดข้อริเริ่มหุ้นส่วนด้านความเชื่อมโยงอาเซียน+๓ ของไทย (ASEAN+๓ Partnership on Connectivity) และ (๕) ผลักดันการขยายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา
กรอบความร่วมมืออาเซียน+๓ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๐ ในช่วงที่เกิดวิกฤตทางการเงินในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยมีการพบหารือระหว่างผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนและผู้นำของจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี เป็นครั้งแรก ในปี ๒๕๔๐ นับแต่นั้นเป็นต้นมา การประชุมสุดยอดอาเซียน+๓ ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ปัจจุบันความร่วมมือในกรอบอาเซียน+๓ มีมากกว่า ๒๐ สาขา โดยสาขาที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด ได้แก่ ความร่วมมือด้านการเงินภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ และความมั่นคงทางอาหาร โดยการจัดตั้ง APTERR
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--