กระทรวงการต่างประเทศแจ้งผลการดำเนินงานในรอบ ๓ เดือน

ข่าวต่างประเทศ Thursday December 15, 2011 11:19 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๔ นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับผลการดำเนินงานที่สำคัญของกระทรวงฯ ในรอบ ๓ เดือนที่ผ่านมา โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

๑. การพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและนานาชาติ ในรอบ ๓ เดือนที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ดำเนินการเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะการเยือนประเทศเพื่อนบ้านและประเทศสมาชิกอาเซียนของนายกรัฐมนตรี ซึ่งก่อให้เกิดมีผลสำเร็จจากการเยือนดังกล่าวที่สำคัญ อาทิ

๑.๑ การเยือนบรูไน ดารุสซาลาม เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ศกนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะกระชับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล โดยจะร่วมมือกันเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่สาม

๑.๒ การเยือนอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ศกนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะลงนามความตกลงทางการค้าระหว่างกัน และต่อมา ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความตกลงดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ศกนี้ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานที่จะนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (renewable energy) และเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม รวมถึงกระชับความร่วมมืออุตสาหกรรมอาหารฮาลาล โดยไทยจะสนับสนุนภาคเอกชนของไทยไปลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวในอินโดนีเซีย

๑.๓ การเยือนกัมพูชา เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ศกนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าควรมีการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee : GBC) โดยเร็ว และเปิดช่องทางความสัมพันธ์ในทุกระดับและทุกปัญหา โดยให้คณะกรรมการเฉพาะกิจ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายหารือกันอย่างสม่ำเสมอ และเห็นพ้องให้ร่วมกันแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้ อาชญากรรมข้ามชาติ และปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงได้ตกลงกันว่าจะเปิดจุดผ่านแดนถาวรสตึงบท (ตรงข้ามจังหวัดสระแก้ว) นอกจากนี้ ไทยได้ขอให้กัมพูชาเร่งดำเนินโครงการนำร่อง ACMECS Single Visa และเชิญชวนให้ลาวและเวียดนามเข้าร่วมในโครงการดังกล่าวด้วย

๑.๔ การเยือน สปป. ลาว เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ศกนี้ ไทยได้ขอให้ฝ่าย สปป.ลาว ติดตามการยกระดับด่านและการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนภายหลังการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ ๓ (นครพนม-คำม่วน)

๑.๕ การเยือนเมียนมาร์ เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ศกนี้ ทั้งสองฝ่ายยืนยันจะผลักดันให้โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อเป็นทางออกสู่ทะเลอันดามัน และได้หารือเกี่ยวกับการเปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าในไทยเพิ่มเติม และการเปิดจุดผ่านแดนเมียวดี-ด่านแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งต่อมา ฝ่ายเมียนมาร์ได้ทำการเปิดแล้ว เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ศกนี้ รวมถึง ทั้งสองฝ่ายได้หารือความเป็นไปได้ ที่จะยกระดับจุดผ่อนปรน ๒ จุด ให้เป็นจุดผ่านแดนถาวร คือ จุดผ่อนปรนด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจุดผ่อนปรนด่านบ้านพระเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี ด้วย นอกจากนี้ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อเป็นการแสดงไมตรีจิตต่อความสัมพันธ์อันดีของประเทศ ทั้งสองฝ่ายเมียนมาร์ได้พิจารณาปล่อยตัวนักโทษชาวไทยจำนวน ๘ คนจากทัณฑสถานเกาะสองด้วย โดยนักโทษดังกล่าวได้เดินทางถึงประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๔

๑.๖ การเยือนเวียดนาม เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ศกนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีการจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ ๒ ในปี ๒๕๕๕

นอกจากนี้ ในช่วงเวลา ๓ เดือนที่ผ่านมา ได้มีบุคคลสำคัญจากต่างประเทศ เช่น ผู้นำและรัฐมนตรีจากต่างประเทศมาเยือนไทยหลายคน ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของไทยในเวทีระหว่างประเทศ อาทิ

๑.๗ นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ และนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑๖-๑๗ พฤศจิกายน ศกนี้ โดยได้กล่าวสนับสนุนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยประชาชน และสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟู และเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ทั้งนี้ จากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เกี่ยวกับพัฒนาการในเมียนมาร์ ซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมให้ฝ่ายสหรัฐฯ เข้าใจเจตนารมณ์ของรัฐบาลเมียนมาร์มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางเยือนเมียนมาร์อย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม ๒๕๕๔ ซึ่งนับเป็นการเยือนครั้งแรกในรอบหลายสิบปีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

๒. การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนและสนับสนุนบทบาทไทยในอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมของไทยไปสู่การจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ อย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ ๑๗ - ๑๙ พฤศจิกายน ศกนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๙ ที่เมืองบาหลี อินโดนีเซีย ซึ่งผู้นำอาเซียนได้หารือกันในหลายประเด็น รวมทั้งได้ออกแถลงการณ์ว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันอุทกภัย การลดผลกระทบ การบรรเทา การฟื้นฟู และการบูรณะ ซึ่งเป็นข้อเสนอและการริเริ่มของไทย โดยการริเริ่มให้ออกแถลงการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นในระหว่างที่ไทยกำลังประสบอุทกภัย ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่กระชั้นชิดในการเสนอให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนดังกล่าวพิจารณา แต่ที่ประชุมก็ได้ชื่นชมและตอบรับอย่างดียิ่ง เนื่องจากเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งนานาประเทศก็คาดหวังให้ผู้นำอาเซียนให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่มีการออกแถลงการณ์ของอาเซียนเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำ และการฟื้นฟูบูรณะหลังภัยพิบัติอย่างชัดเจน

๓. การกระชับความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับประเทศกลุ่มประเทศ และองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญของโลก เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในประเทศไทยพร้อมกับภูมิคุ้มกันและขีดความสามารถในการแข่งขันให้เศรษฐกิจไทย เกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อาทิ เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๔ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ ๖๖ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ต่อมา รองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (Asia Pacific Economic Cooperation : APEC) ครั้งที่ ๒๓ และการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๒๓ ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ที่เมืองโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมการสำหรับที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม World Economic Forum (WEF) on East Asia ระหว่างวันที่ ๓๐ พฤษภาคม — ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ ด้วย

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๒ — ๒๔ พฤศจิกายน ศกนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางไปเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเออี โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเดินทางไปด้วย พร้อมกับผู้แทนระดับสูงของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เพื่อหารือเกี่ยวกับการกระชับความร่วมมือทวิภาคีด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านพลังงานกับฝ่ายยูเออี รวมถึงเชิญชวนให้นักลงทุนของยูเออีร่วมลงทุนกับฝ่ายไทยในอุตสาหกรรม พลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก และการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ในด้านดังกล่าว

ในขณะเดียวกัน บุคคลสำคัญของไทยได้รับเลือกตั้ง/แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ของโลก อาทิ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงได้รับการคัดเลือกจากกลุ่มประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยการป้องกันแห่งอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ให้ทรงดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๔ จนถึงเดือนธันวาคม ๒๕๕๕ และนายเกรียงศักดิ์ กิตติชัยเสรี เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ ๖๖ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศสำหรับวาระปี ๒๕๕๕ - ๒๕๕๙

๔. การคุ้มครองและดูแลคนไทยในต่างประเทศ ในช่วง ๓ เดือนที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับนโยบายการทูตเพื่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนไทยและแรงงานที่จะไปทำงานในต่างประเทศ โดยมีการเตรียมความพร้อมก่อนเดินทางให้แก่แรงงานไทย รวมถึงจัดการบรรยายเพื่อให้ข้อมูลและความรู้ และการช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ ทั้งในยามปกติและเมื่อเกิดภัยพิบัติ นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญกับการให้บริการและช่วยเหลือดูแลชุมชนไทยในต่างประเทศด้วย

๕. การดำเนินงานเชิงรุกด้านการทูตสาธารณะและการทูตวัฒนธรรมโดยใช้ Soft Diplomacy กระทรวงการต่างประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของ Soft Diplomacy ในการดำเนินนโยบายทางการทูต เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ สร้างกระแสความนิยมไทยกระชับความสัมพันธ์ในระดับประชาชน (people-to-people) และเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในมิติด้านการต่างประเทศที่มีต่อสาธารณชน โดยกระทรวงฯ ได้ดำเนินการผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการด้านการทูตวัฒนธรรมการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของประเทศไทยตามแผนยุทธศาสตร์โดยสื่อชั้นนำของโลก การจัดทำหนังสือเผยแพร่บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ และความเป็นประเทศในระบอบประชาธิปไตยของไทย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดพิมพ์บทความเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในนิตยสาร Newsweek ฉบับวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ โดยกล่าวถึงพระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยในด้านต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประชาคมระหว่างประเทศต่อไทย

นอกจากนี้ ในด้านการทูตวัฒนธรรมนั้น กระทรวงการต่างประเทศได้เป็นหน่วยงานหลักในการอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปถวายที่วัดต่างๆ ในต่างประเทศ เป็นประจำทุกปี โดยในปี ๒๕๕๔ กระทรวงฯ ได้อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปถวายแก่วัดในประเทศต่างๆ จำนวน ๑๑ วัดใน ๑๐ ประเทศ คือ เนปาล อินเดีย ภูฏาน ศรีลังกา มาเลเซีย เมียนมาร์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และอินโดนีเซีย

๖. การสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและฟื้นฟูประเทศ จากการเกิดวิกฤตการณ์อุทกภัยในไทย กระทรวงการต่างประเทศได้มีบทบาทและภารกิจสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือต่อวิกฤตการณ์ดังกล่าวด้วย อาทิ การตั้งศูนย์รับความช่วยเหลือจากมิตรประเทศ ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เพื่อประสานงานกับมิตรประเทศและองค์กรระหว่างประเทศที่ประสงค์ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทย และการให้สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกจัดกิจกรรม โดยร่วมกับชุมชนไทยในต่างประเทศ เพื่อระดมเงินบริจาคและสิ่งของให้ความช่วยเหลือต่างๆ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ โดยรวมทั้งจากประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ๓๘ ราย และรวมทั้งที่เป็นเงินบริจาคและสิ่งของที่มอบแล้วและรอการส่งมอบ จำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ ๑,๖๔๐ ล้านบาท และสำหรับการบริจาคจากสถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ ซึ่งร่วมกับชุมชนไทยในต่างประเทศ โดยได้มอบแล้วและรอการส่งมอบ จำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ ๘๓ ล้านบาท

ในระหว่างวิกฤตการณ์อุทกภัย กระทรวงการต่างประเทศยังให้การดูแลและช่วยเหลือคณะทูตานุทูตและผู้แทนองค์การระหว่างประเทศในประเทศไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์อุทกภัย รวมถึงได้ดำเนินการด้านการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการของรัฐบาลในการบรรเทาทุกข์ การฟื้นฟูและเยียวยาแก่ผู้ประสบอุทกภัย รวมถึงผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากประชาคมระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ยังได้อำนวยความสะดวกในขั้นตอนที่เกี่ยวข้องแก่แรงงานไทยของบริษัทสาขาญี่ปุ่นในไทยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์อุทกภัย และได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานในบริษัทใหญ่ในญี่ปุ่นเป็นการชั่วคราวได้ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการตรวจลงตราให้ผู้เชี่ยวชาญ/ช่างจากต่างประเทศที่จะเข้ามาซ่อมแซมเครื่องมือที่เสียหายจากอุทกภัย เป็นต้น

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ