คำกล่าวในพิธีเปิดการสัมมนา “ความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชา : ศักราชใหม่แห่งมิตรภาพ โอกาสใหม่แห่งการค้าและการลงทุน”

ข่าวต่างประเทศ Friday December 16, 2011 06:54 —กระทรวงการต่างประเทศ

คำกล่าวในพิธีเปิดการสัมมนา “ความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชา : ศักราชใหม่แห่งมิตรภาพ โอกาสใหม่แห่งการค้าและการลงทุน” (Thai - Cambodian Relations: A New Era of Friendship, New Opportunities for Trade and Investment) โดยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ วันศุกร์ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๔

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

กระผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่การสัมมนาเรื่อง “ความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชา : ศักราชใหม่แห่งมิตรภาพ โอกาสใหม่แห่งการค้าและการลงทุน”

การสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลและสร้างความรู้ความเข้าใจในสถานะความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชา นโยบายด้านเศรษฐกิจและกฎระเบียบใหม่ๆ ของกัมพูชา รวมทั้งโอกาสและลู่ทางการค้าการลงทุนของไทยในกัมพูชา เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการตัดสินใจดำเนินธุรกิจและลงทุนในกัมพูชา

ไทยและกัมพูชาได้ดำเนินความสัมพันธ์มาสู่ปีที่ ๖๑ โดยได้มีการฉลองครบรอบ ๖๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - กัมพูชาเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๓ ไทยให้ความสำคัญลำดับแรกกับการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรวมถึงกัมพูชา รัฐบาลไทยมีเจตนารมณ์ชัดเจนที่ต้องการเห็นเพื่อนบ้านมีความเจริญก้าวหน้าและพัฒนาในด้านต่างๆ ซึ่งการพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งกัมพูชา ย่อมส่งผลดีต่อประเทศไทยและประชาชนไทย ตลอดจนส่งผลต่อการพัฒนาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และความเป็นปึกแผ่นของอาเซียนในภาพรวม

รัฐบาลให้ความสำคัญกับการกระชับเพิ่มพูนและพัฒนาความร่วมมือ และความไว้เนื้อเชื่อใจกับกัมพูชาบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน โดยได้บรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วน (ข้อ ๑.๖) ที่รัฐบาลจะเริ่มดำเนินการในปีแรกในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา รัฐบาลจะส่งเสริม สนับสนุน และอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับกัมพูชาในทุกระดับ ทั้งนี้ รัฐบาลได้แยกประเด็นที่เป็นปัญหาออกจากความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีในด้านอื่นๆ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประเทศและประชาชนของทั้งสองประเทศ

สถานการณ์บริเวณชายแดนไทย - กัมพูชาในปัจจุบันได้กลับมามีความสงบอีกครั้ง ถือเป็นการเริ่มศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ในการเยือนกัมพูชาของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๔ ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะแก้ปัญหาที่มีอยู่อย่างสันติ ฟื้นฟูและส่งเสริมความสัมพันธ์ทุกด้านที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง สังคม และการท่องเที่ยว

ไทยกับกัมพูชาเป็นคู่ค้าที่สำคัญ ในปี ๒๕๕๓ มีมูลค่าการค้าโดยรวมกว่า ๘๐,๐๐๐ ล้านบาท คิดเป็นการค้าชายแดนถึงร้อยละ ๖๘ ไทยลงทุนในกัมพูชาตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ จนถึงปัจจุบัน มีมูลค่าจดทะเบียนในส่วนที่ถือหุ้น ๒๒๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการลงทุน ๘๒ โครงการ โดยมูลค่าดังกล่าวคิดเป็นอันดับที่ ๖ ของประเทศที่ลงทุนสูงสุดในกัมพูชา ในปี ๒๕๕๓ นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปกัมพูชากว่า ๙๖,๐๐๐ คน และมีนักท่องเที่ยวกัมพูชาเดินทางมาไทยกว่า ๑๔๖,๐๐๐ คน

นอกเหนือจากการดำเนินงานของภาครัฐแล้ว สมาคมมิตรภาพไทย - กัมพูชา ยังเป็นกลไกหลักที่มีหน้าที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนไทยกับประชาชนกัมพูชา โดยมีกรอบความร่วมมือครอบคลุม ๖ สาขา ได้แก่ ด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การศึกษา สาธารณสุข ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างภาคเอกชน การท่องเที่ยวและกีฬา ในปี ๒๕๕๓ สมาคมมิตรภาพไทย - กัมพูชาได้ดำเนินกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ การมอบอุปกรณ์การแพทย์ให้แก่สถานีอนามัยอันลองเวง และการจัดซื้อหนังสือและอุปกรณ์การเรียนการสอนภาษาไทยให้แก่มหาวิทยาลัยเมียนเจ็ยของประเทศกัมพูชา การจัดโครงการราชพฤกษ์สัญจรไปพบกับผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทยและกัมพูชา ได้แก่ จันทบุรี - ไพลิน ตราด - เกาะกง และสระแก้ว - บันเตียเมียนเจย เพื่อหารือถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างจังหวัดชายแดนของไทยกับกัมพูชา ท่านทูตปกศักดิ์ นิลอุบล นายกสมาคมฯ อยู่ในการสัมมนานี้ด้วยจะได้นำเรียนในรายละเอียดเกี่ยวกับสมาคมฯ ในโอกาสต่อไป นอกเหนือจากสมาคมมิตรภาพไทย - กัมพูชาแล้ว ยังมีสมาคมไทย - ลาวเพื่อมิตรภาพ สมาคมไทย - พม่าเพื่อมิตรภาพ และสมาคมมิตรภาพไทย - เวียดนาม ซึ่งดำเนินกิจกรรมสำคัญๆ อีกมากมาย เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระดับประชาชนของไทยกับประชาชนลาว พม่า และเวียดนามเช่นกัน

เศรษฐกิจของกัมพูชามีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการเติบโตของภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ กระผมเชื่อมั่นว่า ความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชาที่ดีขึ้นเป็นลำดับในขณะนี้ เป็นเสมือนการเริ่มต้นศักราชใหม่ และเป็นพื้นฐานสำหรับการก้าวไปสู่ผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในทุกๆ ด้าน

ในโอกาสนี้ กระผมขอขอบคุณคณะวิทยากรจากฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Mr. Sourn Phearith (ซวน เพียรึด) เลขานุการรัฐมนตรีอาวุโส และรองประธานสภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา และ Mr. Hul Seila (โฮล เซลา) รองอธิบดีกรมการตลาดและส่งเสริมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา ที่สละเวลาเตรียมการมาร่วมบรรยายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวันนี้ บางท่านเดินทางมาโดยตรงจากกรุงพนมเปญ และขอขอบคุณท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่มาร่วมรับฟัง และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการสัมมนาครั้งนี้ สุดท้ายนี้ กระผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านทั้งหลายจะได้รับสาระประโยชน์ และมองเห็นโอกาสและลู่ทางการค้าการลงทุนในกัมพูชาจากงานสัมมนาในวันนี้ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างไทยกับกัมพูชา เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของทั้งสองประเทศ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเพื่อความเป็นปึกแผ่นของอาเซียน

ขอเปิดการสัมมนาครับ

ขอขอบคุณครับ

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ