เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๓.๓๐ น. มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิธีแถลงข่าวการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๔ ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามมินทร์ ชั้น ๒ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าว ได้แก่ ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในฐานะประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จ เจ้าฟ้ามหิดลฯ นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ และประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ พร้อมด้วยนายเจมส์ ไวส์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย และนายวอลเตอร์ เบราโมห์เลอร์ เลขานุการเอกและโฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ได้พิจารณาผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๔ จำนวน ๗๖ ราย จาก ๔๕ ประเทศ โดยคณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้มีมติตัดสินให้ศาสตราจารย์นายแพทย์แอรอน ที. เบ็ค (Professor Aaron T. Beck) และ ดร. เดวิด ที. วอง (Dr. David T. Wong) เข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๔ สาขาการแพทย์ และ ดร. รูธ เอฟ. บิชอป (Dr. Ruth F. Bishop) เข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๔ สาขาการสาธารณสุข โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สาขาการแพทย์
ศาสตราจารย์นายแพทย์แอรอน ที. เบ็ค (Professor Aaron T. Beck) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และประธานกิตติมศักดิ์ ศูนย์วิจัยจิตพยาธิวิทยา แอรอน ที. เบ็ค (Aaron T. Beck Psychopathology Research Center) มลรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา เป็นบุคคลแรกที่นำความคิดและพฤติกรรมบำบัด (Cognitive Behavioural Therapy - CBT) มารักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยได้พัฒนาวิธีการรักษานี้ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๐๓ (ทศวรรษ ๑๙๖๐) ขณะเป็นจิตแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย โดยศาสตราจารย์นายแพทย์เบ็คได้ทำการวิจัย พัฒนา และทดสอบประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยใช้กระบวนการและเทคนิคของการเรียนรู้มาใช้บำบัดเปลี่ยนความคิด — ความเชื่อของบุคคลที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช ช่วยให้บุคคลปรับเปลี่ยนความคิด — ความเชื่อของตนให้เกิดความคิดที่ถูกต้อง เหมาะสม และสามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น การศึกษาต่อมาพบว่า ความคิดและพฤติกรรมบำบัด เป็นวิธีการรักษาโรคซึมเศร้าที่มีประสิทธิภาพที่สุด เป็นที่แพร่หลายอย่างกว้างขวาง และทำให้ศาสตราจารย์นายแพทย์แอรอน ที. เบ็ค ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาด้านความคิดและพฤติกรรมบำบัด ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้มากกว่า ๑๒๐ ล้านคนต่อปี โดยเฉพาะลดอัตราการฆ่าตัวตาย ซึ่งมีมากกว่า ๑ ล้านคนต่อปี
ดร. เดวิด ที. วอง (Dr. David T. Wong) ศาสตราจารย์สมทบ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอินเดียนา มลรัฐอินเดียนา สหรัฐอเมริกา เป็นผู้ค้นพบยาฟลูอ๊อกซีทีน (fluoxetine) ซึ่งเป็นยาตัวแรกในกลุ่ม เอส เอส อาร์ ไอ (selective serotonin reuptake inhibitor - SSRI) โดย ดร. วองเริ่มทำการศึกษาค้นคว้า และวิจัยตั้งแต่ปี ๒๕๑๓ และใช้เวลากว่า ๑๕ ปี ก่อนจะได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาให้วางจำหน่ายได้ภายใต้ชื่อ “โปรแซค” (Prozac) ๒ ปีต่อมา โปรแซคได้รับการยอมรับว่าเป็นยารักษาโรคซึมเศร้าที่มีประสิทธิภาพสูง มีความปลอดภัยมาก มีผลข้างเคียงน้อย โดยใช้ยาเพียงวันละ ๑ ครั้ง จึงทำให้มีการใช้ยานี้อย่างแพร่หลาย ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้านับร้อยล้านคนทั่วโลก นอกจากนี้ฟลูอ๊อกซีทีนยังเป็นต้นแบบของการพัฒนา ยารักษาโรคซึมเศร้าอีกหลายชนิดต่อมา
ทั้งความคิดและพฤติกรรมบำบัด และยาฟลูอ๊อกซีทีนต่างให้ผลในการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ดี แต่เมื่อใช้ความคิดและพฤติกรรมบำบัด และยาฟลูอ๊อกซีทีนร่วมกัน พบว่าทำให้ผลการรักษาดียิ่งขึ้น
สาขาสาธารณสุข
ดร. รูธ เอฟ. บิชอป (Dr. Ruth F. Bishop) ศาสตราจารย์เกียรติยศ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และนักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเด็กเมอด็อค รัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย เป็นบุคคลแรกที่พบว่า โรคท้องร่วงรุนแรงที่เกิดในเด็กอายุต่ำกว่า ๖ ปีทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ต่ำปานกลางในแถบทวีปแอฟริกาและเอเชีย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตราว ๕ แสนคนต่อปี เกิดจากเชื้อไวรัสโรต้า โดยในปี ๒๕๑๖ ดร. บิชอปได้นำเซลล์ลำไส้เล็กของเด็กที่ป่วยมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์อีเล็กตรอน พบเชื้อไวรัสมีลักษณะคล้ายวงล้อรอบๆ จึงให้ชื่อว่า “ไวรัสโรต้า”
นอกจากนี้ ดร. รูธ เอฟ. บิชอป ยังค้นพบว่า ทารกแรกเกิดมีภูมิคุ้มกันสามารถต่อต้านเชื้อไวรัสโรต้าได้ เป็นพื้นฐานนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรต้า โดยตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ เป็นต้นมา ถือเป็นมาตรฐานที่เด็กออสเตรเลียทุกคนจะได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรต้า ทั้งนี้ ในปัจจุบัน วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรต้าเป็นที่ยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายกว่า ๖๐ ประเทศทั่วโลก ช่วยรักษาชีวิตและสุขภาพอนามัยเด็กนับล้านคนทั่วโลก
มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งขึ้นในวโรกาสเฉลิมฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพครบรอบ ๑๐๐ ปี สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๕ โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ซึ่งรางวัลดังกล่าวจะมอบให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ บุคคลหรือสถาบันทางการแพทย์สามารถเสนอชื่อและผลงานให้คณะกรรมการรางวัลนานาชาติมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ คัดเลือก เพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลประจำปี ซึ่งมี ๒ สาขา ได้แก่ สาขาการแพทย์ และสาขาการสาธารณสุข โดยแต่ละรางวัลประกอบด้วย ๑) เหรียญรางวัล ๒) ประกาศนียบัตร และ ๓) เงินรางวัล รางวัลละ ๑๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ได้มีมติเพิ่มเงินรางวัล จากเดิมรางวัลละ ๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ ๑๒๐ ปี วันพระราชสมภพของสมเด็จพระบรมราชชนก และ ๒๐ ปี การจัดตั้งมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ
ที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลนี้แล้วทั้งสิ้น ๕๙ ราย โดยในจำนวนนี้มี ๒ รายที่ได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมา คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์แบรี่ เจมส์ มาร์แชล ปี ๒๕๔๘ และศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซน ปี ๒๕๕๑ และผู้ได้รับพระราชทานรางวัล ๑ ราย ได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) ในเวลาต่อมา คือ แพทย์หญิงมากาเร็ต เอฟซี ชาน ปี ๒๕๔๙ นอกจากนี้ ยังเคยมีคนไทยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จำนวน ๔ ราย คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสงค์ ตู้จินดา และศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุจิตรา นิมมานนิตย์ ปี ๒๕๓๙ และนายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร และนายมีชัย วีระไวทยะ ปี ๒๕๕๒
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--