ผลการประชุมคณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหารของประเทศไทย ครั้งที่ ๑/๒๕๕๕

ข่าวต่างประเทศ Monday January 16, 2012 13:42 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๕ นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมกับนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ในฐานะตัวแทนของไทย และนายอิทธิพร บุญประคอง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และรองตัวแทนของไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวภายหลังเข้าร่วมการประชุมคณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหารของประเทศไทย ครั้งที่ ๑/๒๕๕๕ ซึ่งนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศจัดการประชุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อประสานความเข้าใจ และรับทราบพัฒนาการและแนวทางในการดำเนินการต่อไป โดยการประชุมในครั้งนี้ ได้มีการหารือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และการดำเนินการในกรอบของศาลฯ ในส่วนของคดีตีความ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

๑. การปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลฯ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่แยกต่างหากจากการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี ๒๕๐๕ และมีผลเป็นการชั่วคราวเพราะจะสิ้นสุดผลลงเมื่อศาลฯ มีคำตัดสินในคดีตีความ สถานะล่าสุดคือ ในการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) ไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ ทั้งสองประเทศตกลงที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลฯ อย่างโปร่งใส เท่าเทียม และตรวจสอบได้ อีกทั้งเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วม (Joint Working Group—JWG) เพื่อหารือกันในรายละเอียดต่อไปเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราว

๒. ในส่วนของคดีตีความ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ฝ่ายไทยได้ยื่นข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษร (Written Observations) ต่อนายทะเบียนศาลยุติธรรมระหว่างประเทศแล้ว และนายทะเบียนศาลฯ แจ้งว่า ศาลฯ กำหนดให้กัมพูชาส่งคำอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษร (Written Explanations) ในวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๕ และให้ไทยส่งคำอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษร ในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ ตามลำดับ โดยหลังจากนั้น ศาลฯ จะพิจารณาว่ากระบวนการพิจารณาคดีต่อไปจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นไปได้ว่าศาลฯ อาจตัดสินหลังจากที่ได้พิจารณาข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษรที่แต่ละฝ่ายยื่น หรือศาลฯ อาจพิจารณากำหนดให้มีการนั่งพิจารณา (Oral Hearings) เพื่อรับฟังข้อมูลและข้อชี้แจงเพิ่มเติมจากทั้งสองฝ่ายก่อนจะพิจารณาตัดสินคดีคำขอตีความ โดยมีความเป็นไปได้สูงที่ศาลฯ จะให้มีการนั่งพิจารณาอีกครั้ง ก่อนที่จะตัดสินคดี โดยคาดการณ์ในชั้นนี้ว่า กระบวนการทั้งหมดน่าจะเสร็จสิ้นลงในช่วงปลายปี ๒๕๕๕ เป็นอย่างเร็ว เนื่องจากเป็นคดีที่มีความซับซ้อนประกอบกับเอกสารที่ทั้งสองฝ่ายยื่นต่อศาลฯ มีเป็นจำนวนมาก

๓. คณะดำเนินคดีฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักดีถึงความสำคัญของการดำเนินการในเรื่องนี้ รวมถึงการที่ประชาชนควรจะได้รับทราบข้อมูลมากที่สุดเพื่อให้การดำเนินการมีความโปร่งใส โดยที่ผ่านมา เอกสารที่ยื่นต่อศาลฯ ทุกฉบับและข้อมูลเกี่ยวกับการนั่งพิจารณามีการเผยแพร่บนเว็บไซต์ของศาลฯ มาโดยตลอด ยกเว้นเพียงฉบับเดียว ได้แก่ ข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษรของไทย ซึ่งศาลฯ ยังไม่อนุญาตให้เปิดเผย เพื่อให้ศาลฯ ได้พิจารณาโดยปราศจากการรบกวนจากภายนอก ทั้งนี้ ภายหลังการนั่งพิจารณา หลังจากการยื่นคำอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษรของฝ่ายไทย เอกสารทั้งหมดก็จะสามารถเปิดเผยได้โดยทันที (ตามข้อ ๕๓ ของข้อบังคับศาลฯ)

๔. ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้เชิญผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเข้าร่วมประชุมคณะดำเนินคดีฯ ตามที่เห็นสมควร

๕. ต่อคำถามของผู้สื่อข่าวว่า คณะดำเนินคดีฯ มีการเตรียมความพร้อมรับมือถึงผลการพิพากษาที่จะเกิดขึ้นอย่างไร อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กล่าวว่า คณะดำเนินคดีฯ จัดตั้งขึ้นเพื่อเตรียมการต่อสู้คดีที่ศาลโลกในการตีความคดีปราสาทพระวิหาร ส่วนการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในอาณัติของคณะดำเนินคดีฯ แต่ก็ได้มีการหารือกันในเบื้องต้นไว้บ้าง แม้ว่าจะยังไม่ได้พูดคุยกันในรายละเอียด อย่างไรก็ดี ทั้งไทยและกัมพูชาต่างก็มีพันธกรณีในการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลกตามกฎบัตรสหประชาชาติ

๖. ต่อคำถามที่ว่าคณะดำเนินคดีฯ มีความหนักใจในเรื่องใดหรือไม่ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก กล่าวว่า คณะดำเนินคดีฯ มีความพยายามอย่างเต็มที่ในการรวบรวมข้อมูลและหาหลักฐานเพิ่มเติม เนื่องจากคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลฯ แสดงให้เห็นแล้วว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลังจากปี ๒๕๐๕ สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานเพิ่มเติมในการต่อสู้คดีได้

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ