เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๕ นายจักรกฤษณ์ ศรีวลี เอกอัครราชทูต รองผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ในฐานะอุปทูต ได้เป็นผู้แทนของรัฐบาลไทยในการลงนามในพิธีสารนาโงยาว่าด้วยการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ณ อาคารสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และเป็นผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ ๒ ในภูมิภาคอาเซียน (หลังจากอินโดนีเซีย) และเป็นประเทศที่ ๘๓ ซึ่งได้ลงนามในพิธีสารนาโงยาฯ แล้ว
พิธีสารดังกล่าวได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ ๑๐ เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๓ ที่เมืองนาโงยา ประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศซึ่งมีเป้าประสงค์เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม โดยคำนึงถึงสิทธิเหนือทรัพยากรและเทคโนโลยี เพื่อส่งผลให้มีการรักษาและการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
ดังนั้น การลงนามในพิธีสารนาโงยาฯ เป็นการแสดงท่าทีของไทยที่ชัดเจนในเวทีระหว่างประเทศ ในการให้ความสำคัญกับทรัพยากรพันธุกรรมในฐานะเป็นประเทศที่เปี่ยมด้วยความอุดมสมบูรณ์ทั้งในความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรพันธุกรรม
อย่างไรก็ดี พิธีสารนาโงยาฯ จะยังไม่มีผลบังคับใช้ระหว่างประเทศ จนกว่าจะครบ ๙๐ วัน หลังจากที่มีประเทศให้สัตยาบันในพิธีสารดังกล่าวอย่างน้อย ๕๐ ประเทศ ซึ่งในปัจจุบันมี ๒ ประเทศได้ให้สัตยาบันแล้ว (กาบอง และจอร์แดน) กล่าวคือ หลังจากการลงนามแล้ว จะต้องมีกระบวนการของการให้สัตยาบันในลำดับต่อไปด้วย ขณะนี้ มีแนวโน้มว่า หลายประเทศที่ได้ลงนามไว้แล้วจะให้สัตยาบันภายในปีนี้เพื่อให้ทันการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ ๑๑ ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม ๒๕๕๕ ณ เมืองไฮเดอราบาด สาธารณรัฐอินเดีย
ในส่วนของประเทศไทย การให้สัตยาบันในพิธีสารดังกล่าวยังคงต้องเป็นไปตามขั้นตอนในมาตรา ๑๙๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะมีการประชาพิจารณ์ โดยให้ประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการมีส่วนร่วม และต้องผ่านการพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และรัฐสภา
อนึ่ง สามารถอ่านพิธีสารนาโงยาฯ (ภาษาอังกฤษ) ได้ที่เว็บไซต์ http://www.cbd.int/abs/text/
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--