เปิดตัวหนังสือ “ข้อมูลที่ประชาชนไทยควรทราบเกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหารและการเจรจาเขตแดนไทย — กัมพูชา”

ข่าวต่างประเทศ Friday February 10, 2012 11:33 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นายภาสกร ศิริยะพันธุ์ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และนายธัชชยุติ ภักดี รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้กล่าวแนะนำหนังสือ “ข้อมูลที่ประชาชนไทยควรทราบเกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหารและการเจรจาเขตแดนไทย — กัมพูชา” ซึ่งจัดพิมพ์โดยกระทรวงการต่างประเทศ โดยกล่าวถึงภูมิหลังของการจัดทำหนังสือฉบับดังกล่าวว่า เป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการรับรู้และความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาเรื่องพรมแดน ตามมาตรา ๑๙๐ วรรค ๒ และ ๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในการให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในการทำหนังสือสัญญาใดที่มีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย

การจัดพิมพ์หนังสือนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการให้ข้อมูลแก่ประชาชนซึ่งมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยพยายามตอบคำถามและข้อสงสัยของสาธารณชน ซึ่งกระทรวงฯ ได้ประมวลไว้ในระยะที่ผ่านมาเกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหารและเขตแดนไทย — กัมพูชา โดยการจัดพิมพ์หนังสือฉบับนี้เป็นการพิมพ์ครั้งที่สอง หลังจากที่มีการจัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๕๒ โดยมีรายละเอียดและสาระมากขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดพิมพ์ประมาณ ๒๐,๐๐๐ ฉบับ เพื่อแจกจ่ายให้แก่ส่วนราชการต่าง ๆ ทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น รวมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ตลอดจนประชาชนทั่วไป โดยผู้ที่สนใจสามารถขอรับหนังสือได้ที่กรมเอเชียตะวันออกหรือกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังสามารถอ่านและดาว์นโหลดได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ www.mfa.go.th/tcs ด้วย

สำหรับสาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น ๘ บท ได้แก่ (๑) ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร (๒) สนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเขตแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเศส (๓) คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกรณีปราสาทพระวิหารปี ๒๕๐๕ (๔) การดำเนินการของฝ่ายไทยในการแก้ไขปัญหาเขตแดนไทย — กัมพูชา (๕) การแก้ไขปัญหาระหว่างไทยกับกัมพูชาในกรอบของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และกรอบของอาเซียน (๖) การแก้ไขปัญหาระหว่างไทยกับกัมพูชาในกรอบของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (๗) ปราสาทพระวิหารกับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และ (๘) ท่าทีของไทยต่อความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชา

กระทรวงการต่างประเทศหวังว่าข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ปรากฏในหนังสือฉบับนี้จะมีส่วนเสริมสร้างความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับปัญหาเขตแดนไทย — กัมพูชาได้ดียิ่งขึ้น

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ