ไทยยินดีต่อพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาร์

ข่าวต่างประเทศ Monday February 20, 2012 10:44 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และนายวิน มระ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์ ได้ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงผลการเยือนไทยของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์ ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

๑. ปลัดกระทรวงฯ กล่าวยินดีต่อการเยือนไทยของนายวิน มระ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์ และนายยุ้น ส่วย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์ โดยเห็นว่าการเยือนครั้งนี้ จะช่วยกระชับความร่วมมือระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมและป้องกันสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ ไทย ในฐานะมิตรและประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกับเมียนมาร์ รู้สึกยินดีต่อพัฒนาการเชิงบวกของเมียนมาร์ โดยเฉพาะการจัดตั้งคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์ เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๔ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาสิทธิมนุษยชนในเมียนมาร์ ตลอดจนยินดีที่ประชาคมโลกเล็งเห็นถึงพัฒนาการเชิงบวกของเมียนมาร์ โดยไทยพร้อมจะสนับสนุนประชาธิปไตยและกระบวนการปรองดองภายในของเมียนมาร์

๒. ปลัดกระทรวงฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า วัตถุประสงค์ของการเยือนครั้งนี้ คือ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์ด้านการส่งเสริมและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งความร่วมมือด้านทวิภาคีระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ การเยือนครั้งนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์ ที่จะไปพบกับคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศสมาชิกอาเซียนอีกด้วย ในการนี้ นอกจากการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศถึงประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องพัฒนาการเชิงบวกของเมียนมาร์และบทบาทของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์ การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านการเข้าเมือง รวมถึงการป้องกันการเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์ยังได้พบปะกับหน่วยงานต่าง ๆ ของไทย อันได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะอนุกรรมการสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์ได้บรรยายให้นักศึกษาฟังเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์ และกิจกรรมขององค์กรอีกด้วย

๓. ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์ได้กล่าวขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศและประเทศไทยที่ได้เชิญมาเยือน โดยตนรู้สึกยินดีที่ได้พบหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยด้านสิทธิมนุษยชน ในการนี้ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์ได้ตอบคำถามสื่อมวลชน ดังนี้

๓.๑ ต่อข้อซักถามเกี่ยวกับจำนวนนักโทษทางการเมืองในเมียนมาร์ในปัจจุบัน นั้น ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์กล่าวว่า ยังมีความสับสนในด้านข้อมูลอยู่ เพราะต้องแยกกลุ่มนักโทษทางการเมืองและกลุ่มอาชญากร อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบัน คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์มีจำนวนในเบื้องต้นประมาณ ๑๒๘

๓.๒ เกี่ยวกับอำนาจของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์ว่ามีมากน้อยแค่ไหน นั้น ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์กล่าวว่า ปัจจุบัน รัฐบาลเมียนมาร์ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการจัดตั้งคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้รับหนังสือร้องเรียนทุกวันจากประชาชนชาวเมียนมาร์ และได้ดำเนินการส่งต่อไปยังรัฐบาล พร้อมข้อเสนอแนะ ดังนั้น อำนาจของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์คงขึ้นอยู่กับสถานการณ์นั้น ๆ ด้วย

๓.๓ ต่อข้อซักถามเกี่ยวกับบทบาทของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์ในกระบวนการปรองดองกับชนกลุ่มน้อย นั้น ประธานคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า เป็นประเด็นทางการเมือง อย่างไรก็ดี คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์จะดูแลอย่างใกล้ชิดเรื่องการละเมิด และจะส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสันติสุขและทางออกที่ยั่งยืนในเมียนมาร์ต่อไป

๓.๔ ต่อข้อซักถามเรื่องนโยบายในอนาคตของไทยในการปิดพื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยจากการสู้รบจากเมียนมาร์บริเวณชายแดนไทย-เมียนมาร์ และการเดินทางกลับของผู้หนีภัยฯ จำนวนประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ คน กลับเมียนมาร์ นั้น ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว แต่ก็พร้อมที่จะดำเนินการช่วยเหลือ ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนที่จะให้ผู้หนีภัยฯ กลับประเทศ นั้น จะต้องดูสถานการณ์และความปลอดภัยเป็นสำคัญ และไทยจะต้องจัดฝึกอบรมวิชาชีพให้แก่ผู้หนีภัยฯ เพื่อให้สามารถเลี้ยงตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับเมียนมาร์

๓.๕ เกี่ยวกับประสบการณ์ของไทยที่คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์จะนำไปปรับใช้ที่เมียนมาร์ นั้น ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์กล่าวว่า การเยือนครั้งนี้ ทำให้เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับกลไก การบริหารจัดการคำร้อง และแนวทางการจัดการกับผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งในเมียนมาร์ มีปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องได้รับการแก้ไข ทั้งเรื่องการยึดครองที่ดิน กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน การละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ และระบบการสาธารณสุขที่ไม่ได้มาตรฐาน

๓.๖ เกี่ยวกับการเปรียบเทียบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมาร์ ก่อนและหลังการเลือกตั้งภายในประเทศ นั้น ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์กล่าวว่า ปัจจุบัน ได้มีการตื่นตัวและการให้ศึกษาเรื่องประเด็นดังกล่าวในเมียนมาร์เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ จากหนังสือร้องเรียนที่คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์ได้รับ วันละ ๒๐-๓๐ ฉบับ เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๔ นั้น ปัจจุบัน เพิ่มเป็น ๑,๐๐๐ ฉบับ ต่อวัน ในการนี้ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์จะทำงานส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน ตามที่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญเมียนมาร์ต่อไป

อนึ่ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาร์ จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิพื้นฐานของประชาชนเมียนมาร์ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเมียนมาร์ โดยมีหน้าที่ในการรับและตรวจสอบข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และประสานกับหน่วยงานเมียนมาร์ที่เกี่ยวข้อง และองค์กรต่าง ๆ รวมทั้งองค์กรในกรอบสหประชาชาติ เพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนตรวจสอบการคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ตามพันธกรณีระหว่างประเทศของเมียนมาร์ และให้ข้อเสนอแนะในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ที่เหมาะสม

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ