เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๕ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าเฝ้าเจ้าชายแอนดรูว์ อัลเบิร์ต คริสเตียน เอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งยอร์กแห่งสหราชอาณาจักร เพื่อหารือข้อราชการ ณ โรงแรมเซนต์ รีจีส ที่ประทับ ในโอกาสการเสด็จเยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ — ๓ มีนาคม ๒๕๕๕ โดยภายหลังจากการหารือรัฐมนตรีว่าการฯ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
๑. ภาพรวม
ดยุกแห่งยอร์กฯ ทรงยินดีที่ได้เสด็จเยือนประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระพรในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา และได้รับพระราชทานพระราชวโรกาสเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นอกจากนั้น ยังจะได้พบหารือข้อราชการกับบุคคลระดับสูงในรัฐบาลไทยด้วย
๒. สถานการณ์อุทกภัยและการเมืองในไทย
ดยุกแห่งยอร์กฯ ทรงยินดีที่สถานการณ์อุทกภัยในไทยได้ผ่านพ้นไปด้วยดี โดยทรงแสดงความชื่นชมแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการป้องกันอุทกภัยในอนาคต นอกจากนี้ ดยุกแห่งยอร์กฯ ทรงยินดีที่การเมืองไทยมีพัฒนาการในเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งเสริมการพัฒนาประเทศของไทยและบทบาทของไทยในภูมิภาค ตลอดจนการเพิ่มพูนความร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศต่อไป ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ย้ำว่าผลการเลือกตั้งในประเทศไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔ เป็นเครื่องยืนยันว่ารัฐบาลปัจจุบันได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างแท้จริง จึงขอให้เชื่อมั่นในรัฐบาลซึ่งมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความปรองดองในชาติให้เกิดขึ้นให้ได้ และ การดำเนินการของรัฐบาลในเรื่องนี้ได้ดำเนินมาในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว
๓. บทบาทไทยในภูมิภาคและเวทีระหว่างประเทศ
ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ ย้ำถึงเสาหลักของนโยบายต่างประเทศไทย ได้แก่ การกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน การมีบทบาทนำในอาเซียน/ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การสร้างความเชื่อมโยงในอาเซียน (ASEAN Connectivity) เพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างประชาคมอาเซียน และการพัฒนาอาเซียนในฐานะแกนกลางความร่วมมือของภูมิภาค รวมทั้งการส่งเสริมให้อาเซียนเป็นจุดหมายของการทำธุรกิจและการลงทุนจากต่างประเทศ
นอกจากนั้น ดยุกแห่งยอร์กได้แสดงความสนพระทัยในพัฒนาการในเมียนมาร์ โดยทรงตระหนักถึงบทบาทของไทยในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในเมียนมาร์ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ ได้ย้ำท่าทีและชี้แจงการดำเนินการของไทยในการสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยและการส่งเสริมการพัฒนาด้านต่าง ๆ ในเมียนมาร์เพื่อประโยชน์ของ ประชาชนชาวเมียนมาร์ และเพื่อให้เมียนมาร์พัฒนาบทบาทการเป็นสมาชิกอาเซียนที่มีความกระตือรือร้นและความรับผิดชอบในฐานะสมาชิกที่ดีของประชาคมระหว่างประเทศในอนาคต
๔. ประเด็นความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร
ทั้งสองฝ่ายแสดงความยินดีต่อพัฒนาการของความร่วมมือระหว่างสองประเทศที่มีความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ได้แก่
(๑) การศึกษา ไทยสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรมีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษาของไทย โดยเฉพาะการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในไทย ซึ่งดยุกแห่งยอร์กทรงสนับสนุนเรื่องดังกล่าว และแจ้งว่า ในขณะนี้ มีโรงเรียนและสถาบันการศึกษาของสหราชอาณาจักรเข้ามาดำเนินการในไทยเพิ่มมากขึ้น การจัดตั้งสถาบันการศึกษาสหราชอาณาจักรดังกล่าวจะช่วยพัฒนาทักษะและศักยภาพของบุคลากรไทย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยด้วย
(๒) การลงทุน ทั้งสองฝ่ายยินดีที่สหราชอาณาจักรยังเป็นผู้ลงทุนรายสำคัญในประเทศไทยและมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งฝ่ายไทยหวังว่าจะมีการลงทุนของบริษัทใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนั้น ยังเห็นพ้อง กับการส่งเสริมให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น ดยุกแห่งยอร์กฯ ทรงย้ำว่า สหราชอาณาจักรยังคง สนใจและเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย ในขณะเดียวกัน ขอให้ไทยพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ/กฎหมายไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนต่างชาติ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้กับการลงทุนจากต่างชาติ รวมทั้งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยด้วย
(๓) การท่องเที่ยว สองฝ่ายยินดีที่ประชาชนของทั้งสองประเทศมีการติดต่อไปมาหาสู่และปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละปี มีคนไทยเดินทางไปสหราชอาณาจักรจำนวนมากเพื่อการท่องเที่ยว การศึกษาและการเจรจาธุรกิจ ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เดินทางมาไทยยังคงมีจำนวนมากเป็นอันดับ ๑ ในกลุ่มสหภาพยุโรป (European Union — EU) และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งทั้งสองฝ่ายหวังว่า การปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชนต่อประชาชนจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้ใกล้ชิดและแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นไปอีก
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--