เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๕ นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ไทยบางฉบับที่ระบุว่า สหประชาชาติหรือยูเอ็นได้มีหนังสือถึงรัฐบาลไทยผ่านนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ แสดงความห่วงกังวลกรณีการดำเนินการต่อชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และรายงานอ้างด้วยว่า เมื่อวันที่ ๙ มี.ค. ๒๕๕๕ นายสีหศักดิ์ฯ ในฐานะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้มีคำแถลงยืนยันว่า สหประชาชาติได้แจ้งข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย ซึ่งรายงานดังกล่าวมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนในหลายประเด็น กระทรวงการต่างประเทศจึงขอชี้แจง ดังนี้
๑. ประธานคณะกรรมการประจำอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination - CERD) ได้มีหนังสือถึงรัฐบาลไทยผ่านทางคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ตามช่องทางทางการทูต แสดงความห่วงกังวลตามข้อมูลที่ได้รับเกี่ยวกับการดำเนินการต่อชาวกะเหรี่ยงโดยเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติและกรมป่าไม้ อย่างไรก็ดี หนังสือของคณะกรรมการประจำอนุสัญญา CERD ดังกล่าวมิได้หยิบยกเรื่องการเผาบ้านชาวกะเหรี่ยง มิได้ ?จี้? หรือกล่าวหาไทยตามที่กล่าวอ้างในรายงานข่าวแต่อย่างใด เพียงแต่ระบุกว้าง ๆ ถึงข้อร้องเรียนที่ได้รับเกี่ยวกับการดำเนินการต่อชาวกระเหรี่ยงในพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ และขอรับข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ชนพื้นเมืองดั้งเดิมในเขตอุทยานฯ รวมทั้งมาตรการที่เกี่ยวข้องของไทยเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว
๒. หนังสือจากคณะกรรมการ CERD ถึงรัฐบาลไทยผ่านทางคณะผู้แทนไทยฯ ณ นครเจนีวา ข้างต้น เป็นขั้นตอนและกลไกการเตือนระวังเบื้องต้นของคณะกรรมการประจำอนุสัญญาฯ ตามปกติ ในการเฝ้าระวังสถานการณ์ในประเทศต่างๆ ที่เป็นภาคีอนุสัญญา โดยเมื่อได้รับการร้องเรียนจากองค์กรเอกชน คณะกรรมการประจำอนุสัญญา CERD ก็จะมีหนังสือถึงรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานขอทราบข้อมูลจากรัฐภาคี โดยคณะกรรมการฯ จะไม่ด่วนสรุปว่า มีการละเมิดทธิมนุษยชนเกิดขึ้นจริงตามข้อมูลที่ได้รับ
๓. ข้อมูลในรายงานที่ระบุว่า หนังสือของคณะกรรมการดังกล่าวได้ถูกยื่นผ่านนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว และกล่าวอ้างว่า นายสีหศักดิ์ฯ ในฐานะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้แถลงยืนยันการพิจารณาของคณะกรรมการฯ เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวนั้น เป็นอีกสองประเด็นที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากนายสีหศักดิ์ฯ ได้พ้นตำแหน่งเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรฯ ณ นครเจนีวาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๔ แล้ว และปัจจุบันดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นอกจากนี้ ทั้งปลัดกระทรวงการต่างประเทศและเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรฯ ณ นครเจนีวาคนปัจจุบันยังไม่เคยได้ให้สัมภาษณ์ใด ๆ เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ตามที่มีการกล่าวอ้างในรายงานข่าว
๔. ไม่ว่าหนังสือจะยื่นผ่านอดีตเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรฯ หรือเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรฯ คนปัจจุบัน กระทรวงการต่างประเทศขอยืนยัน ดังนี้
๔.๑ รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติตามหลักนิติธรรม และยึดมั่นในพันธกรณีของไทยภายใต้อนุสัญญา CERD ซึ่งไทยเป็นภาคีตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้เดินหน้านโยบายด้านสังคมและสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง โดยมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามคำมั่นด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยประกาศไว้กับประชาชนชาวไทยและประชาคมระหว่างประเทศ ทั้งนี้ กลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในประเทศไทยต่างได้รับความคุ้มครองอย่างเสมอภาคและปราศจากการเลือกปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งคุ้มครองและรับรองสิทธิของชุมชนดั้งเดิมในการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และสิทธิในการมีส่วนร่วมในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดลอม
๔.๒ กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนใดๆ ที่ได้รับ รวมถึงในกรณีนี้ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะได้มีหนังสือถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับข้อมูลและข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการจัดทำหนังสือชี้แจงและให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการประจำอนุสัญญา CERD ดังกล่าวต่อไป อย่างไรก็ดี ขอย้ำว่า แม้ว่าคณะกรรมการ CERD จะได้มีหนังสือแสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้รับ และขอรับข้อเท็จจริงก็ตาม แต่ก็มิได้ด่วนสรุปว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจริง
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--