๑. น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยเดินทางเยือนสาธารณรัฐเกาหลีอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๒๔ - ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๕ ตามคำเชิญของนาย อี มยอง บัก ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี และจะเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ค.ศ. ๒๐๑๒ ณ กรุงโซล ระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๕ โดยในวันเสาร์ที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๕ นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยได้เดินทางไปวางพวงมาลา ณ สุสานแห่งชาติกรุงโซล เข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ และหารือทวิภาคีระดับผู้นำกับประธานาธิบดี อี มยอง บัก จากนั้นจะเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำอย่างเป็นทางการ โดยประธานาธิบดี อี มยอง บัก เป็นเจ้าภาพ นอกจากนี้ ในระหว่างการเยือนสาธารณรัฐเกาหลี นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเยี่ยมชมโครงการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และเดินทางไปวางพวงมาลาที่แผ่นจารึกรายนามทหารไทยที่เสียชีวิตในสงครามเกาหลี ณ พิพิธภัณฑ์สงครามเกาหลี ยง ซาน รวมทั้งกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยสตรี อีฮวา และเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันกับภาคเอกชนเกาหลี โดยมีประธานสมาคมด้านเศรษฐกิจเกาหลี ๔ สมาคมเป็นเจ้าภาพ
๒. ประธานาธิบดี อี มยอง บัก ได้กล่าวแสดงความยินดีต้อนรับการเยือนสาธารณรัฐเกาหลีอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย และในฐานะตัวแทนของรัฐบาลและประชาชนสาธารณรัฐเกาหลี กล่าวขอบคุณประเทศไทยที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่ได้ร่วมส่งกำลังทหารเข้าร่วมรบในสงครามเกาหลี นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แสดงความขอบคุณประธานาธิบดี อี มยอง บัก ที่ได้ให้เกียรติเชิญมาเยือนสาธารณรัฐเกาหลีในครั้งนี้ และกล่าวขอบคุณรัฐบาลเกาหลีที่ได้ให้ความสำคัญต่อเหล่าทหารผ่านศึกชาวไทย โดยการเชิญทหารผ่านศึกเดินทางไปประเทศเกาหลี และการมอบทุนการศึกษาของรัฐบาลเกาหลีแก่บุตรหลานของทหารผ่านศึกชาวไทยด้วย
๓. ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำถึงมิตรภาพและความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ และเห็นพ้องที่จะพัฒนาความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ต่อไปในอนาคต
๔. ประธานาธิบดี อี มยอง บัก ได้กล่าวขอบคุณประเทศไทยที่ให้ความสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลี รวมทั้งให้คาบสมุทรเกาหลีปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลีที่จะสร้างและรักษาสันติภาพของคาบสมุทรเกาหลีต่อไป ผู้นำทั้งสองได้แสดงความห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อการที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีแถลงเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๕ เกี่ยวกับแผนการยิงทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกล และเรียกร้องให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลียกเลิกแผนการดังกล่าว และปฏิบัติตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
๕. นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แสดงความขอบคุณประชาชนและรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลีที่ให้ความช่วยเหลือต่อเหตุการณ์อุทกภัยในไทยอย่างรวดเร็ว และประธานาธิบดี อี มยอง บัก ได้แสดงความเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาและบูรณะฟื้นฟูประเทศจากเหตุการณ์อุทกภัย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมทั้งการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอุทกภัยอีกในอนาคต
๖. ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับการบรรเทาอุทกภัยและการบริหารจัดการน้ำ เพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสาธารณรัฐเกาหลีจะให้ความร่วมมือสนับสนุนการพัฒนาระบบการจัดการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศไทยต่อไป ทั้งสองฝ่ายยินดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและสาธารณรัฐเกาหลีจะร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการเรื่องการบริหารจัดการน้ำในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมอุทกภัยแม่น้ำฮัน และฝายอิโป ในระหว่างการเยือนสาธารณรัฐเกาหลีในครั้งนี้ด้วย
๗. ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงกลาโหมของไทย กับกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐเกาหลี ว่าด้วยความร่วมมือทางทหาร โดยนายกรัฐมนตรีไทยและประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีร่วมเป็นสักขีพยาน รวมทั้งเห็นพ้องที่จะมีความร่วมมือในการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ การบรรเทา และช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ และความร่วมมือด้านความมั่นคงในด้านอื่น ๆ
๘. ทั้งสองฝ่ายมีความยินดีที่การค้าระหว่าง ๒ ประเทศ ขยายตัวถึง ๑๓,๙๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ๒๕๕๔ ในการนี้ ผู้นำทั้งสองได้เห็นพ้องที่จะผลักดันให้การค้าระหว่างทั้งสองประเทศขยายตัวเป็น ๓ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน ๕ ปีข้างหน้า (๒๕๕๕-๒๕๕๙) ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะรื้อฟื้นกลไกคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้า และยืนยันที่จะสนับสนุนการขยายการลงทุนของสาธารณรัฐเกาหลีในประเทศไทย
๙. ทั้งสองฝ่ายแสดงความตั้งใจที่จะสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ไทยและสาธารณรัฐเกาหลีมีศักยภาพในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนร่วมกัน อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เหล็กและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป รวมทั้งพลังงานทดแทน และควรใช้ประโยชน์จากกลไกที่มีอยู่แล้วในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค เช่น ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน -สาธารณรัฐเกาหลี
๑๐. ประเทศไทยได้ร่วมแสดงความยินดีต่อประธานาธิบดี อี มยอง บัก สำหรับความสำเร็จในการริเริ่มนโยบาย “Low Carbon, Green Growth” เมื่อปี ๒๕๕๓ และทั้งสองประเทศให้ความสำคัญต่อการดำเนินโครงการนี้ โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับนโยบาย Green Growth และทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะพัฒนาความร่วมมือทางเทคนิคด้านการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการใช้พลังงานปรมาณูเพื่อสันติภาพ
๑๑. ประเทศไทยได้แสดงความขอบคุณสาธารณรัฐเกาหลีสำหรับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายในการจัดตั้งศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมาในประเทศไทย และทั้งสองฝ่ายหวังว่าจะขยายความร่วมมือด้านการแพทย์และสาธารณสุขต่อไป
๑๒. ทั้งสองฝ่ายต่างแสดงความยินดีที่มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการศึกษา ซึ่งส่งผลดีต่อมิตรภาพระหว่างกัน และสร้างเสริมความเข้าใจระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศมากยิ่งขึ้น ทั้งสองฝ่ายปรารถนาจะจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมขึ้นในแต่ละประเทศ ซึ่งรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลีขอความร่วมมือรัฐบาลไทยในการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมในปีนี้ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะสนับสนุนการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชนให้มากขึ้นซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางไปมาหาสู่กัน จำนวนเกินกว่า ๑,๒๐๐,๐๐๐ คน
๑๓. ทั้งสองฝ่ายชื่นชมที่ได้มีการก่อตั้งกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง — สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งได้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๔ และจะมีความร่วมมือระหว่างกันต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม
๑๔. ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งในระดับภูมิภาค เช่น การประชุมสุดยอดอาเซียน + ๓ (ASEAN + ๓) การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ อาทิ กรอบสหประชาชาติ (United Nations: UN) และองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) อย่างใกล้ชิด
๑๕. ทั้งสองฝ่ายยินดีกับการลงนามความตกลงจัดตั้งองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียน+๓ (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve: APTERR) เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๔ และหวังว่าความตกลงจะมีผลบังคับใช้โดยเร็ว สาธารณรัฐเกาหลียินดีกับข้อเสนอของไทยที่จะรับเป็นที่ตั้งสำนักงานเลขาธิการ APTERR ต่อไป
๑๖. นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลและประชาชนสาธารณรัฐเกาหลี ที่ให้การต้อนรับคณะตัวแทนจากประเทศไทยอย่างอบอุ่น รวมทั้งได้อวยพรให้การประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ค.ศ. ๒๐๑๒ ประสบความสำเร็จด้วยดี
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--