นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนภาคนิติบัญญัติ ผู้แทนภาคประชาสังคมและผู้แทนเยาวชน ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๒๐ ที่กรุงพนมเปญ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 4, 2012 12:07 —กระทรวงการต่างประเทศ

ในช่วงบ่ายของวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๕ ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๒๐ ที่กรุงพนมเปญนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร่วมกับผู้นำอาเซียนอื่น ๆ ได้พบหารือกับผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม และผู้แทนเยาวชน

ในช่วงการหารือกับผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน นายกรัฐมนตรีไทยได้สนับสนุนให้ผู้นำอาเซียนและผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียนพบปะกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประสานงานระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติในการสร้างประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ โดยไทยขอให้ฝ่ายนิติบัญญัติช่วยเร่งรัดการพิจารณากฎหมายสำคัญต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามพันธกรณีภายใต้กฎบัตรอาเซียน และแผนการจัดตั้งประชาคมอาเซียนทั้ง ๓ เสา รวมทั้งเสนอให้อาเซียนพิจารณาเชิญผู้แทนสมัชชาฯ เข้าร่วมกิจกรรมหรือการสัมมนาของอาเซียนที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของฝ่ายนิติบัญญติในการดำเนินงานของอาเซียน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้สมัชชาฯ มีบทบาทเพิ่มขึ้นในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างประชาคมอาเซียน รวมทั้งสะท้อนเสียงและความคาดหวังของประชาชน เพื่อให้ประชาคมอาเซียนสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนและมีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง รวมทั้งให้สมัชชาฯ ช่วยเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนเพื่อสร้างความตระหนักรับรู้ที่กว้างขวางขึ้น รวมทั้งความเป็นไปได้ในการพัฒนาความร่วมมือในด้านอื่นในอนาคต

ผู้นำอาเซียนได้หารือกับผู้แทนภาคประชาสังคมอาเซียน ในหัวข้อ “เพศสภาพกับการพัฒนาในอาเซียน” โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นถึงความสำคัญของปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคม และกล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีไทย เพื่อขจัดปัญหาความยากจน การเลือกปฏิบัติและความรุนแรงในครอบครัว โดยรัฐบาลได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในวงเงินงบประมาณประมาณ ๗.๗ พันล้านบาท เพื่อสนับสนุน สร้างความเข้มแข็ง สร้างโอกาสให้แก่สตรีไทย โดยเฉพาะในชนบท และปัจจุบันมีสตรีไทยลงทะเบียนแล้ว ๖ ล้านคน

นายกรัฐมนตรีย้ำความจำเป็นในการเพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีในการพัฒนาและการเมืองในระดับอาเซียนด้วย เช่น ส่งเสริมให้สตรีมีตำแหน่งระดับสูงในสำนักเลขาธิการอาเซียน พัฒนาบรรทัดฐานของภูมิภาคในการปกป้องสตรีจากการล่วงละเมิดและการเลือกปฏิบัติ โดยให้ระบุไว้ในปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนให้คณะกรรมาธิการอาเซียนเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก และคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หารืออย่างใกล้ชิดกับภาคประชาสังคม

ต่อมา นายกรัฐมนตรีร่วมกับผู้นำอาเซียนอื่น ๆ ได้หารือกับผู้แทนเยาวชนอาเซียน ในหัวข้อ “บทบาทของเยาวชนอาเซียนในการสร้างประชาคมอาเซียน“ โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นถึงความสำคัญของเด็ก ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ การเสริมสร้างทักษะผู้ประกอบการและเพิ่มความหลากหลายของการศึกษา จำเป็นต่อการสร้างประชาคมอาเซียน ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงความจำเป็นที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องร่วมมือกัน ทั้งภายในประเทศและในภูมิภาค เพื่อวางรากฐานและสภาพแวดล้อมที่ดีแก่เยาวชน เช่น การสร้างสังคมอาเซียนที่ปลอดยาเสพติด ปลอดอาชญากรรม และปลอดจากปัญหาการขาดแคลนทางโภชนาการ รวมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียน ให้ใช้คอมพิวเตอร์แบบแท็บเล็ตในการเรียนการสอน และส่งเสริมการจัดกิจกรรมสอนภาษาอังกฤษและภาษาของประเทศอาเซียนอื่น ๆ ให้กับเยาวชนไทย โดยยกตัวอย่างโครงการจัดค่ายภาษาอังกฤษของกระทรวงการต่างประเทศในช่วงเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลไทยได้นำเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนการศึกษาของเยาวชน เพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้ จะเพิ่มบริการทางอินเตอร์เน็ตในที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา และส่งเสริมกิจกรรมการสอนภาษาอังกฤษและภาษาของประเทศอาเซียนอื่นๆ ให้กับเยาวชนไทย เพื่อเตรียมความพร้อมของเยาวชนไทยในการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ไทยยังสนับสนุนการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนในระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ เพื่อให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมซึ่งเป็นพื้นฐานของการสร้างประชาคมอาเซียนต่อไป

นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้เยาวชนอาเซียนมีปฏิสัมพันธ์กับเยาวชนจากประเทศคู่เจรจาด้วย โดยไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดโครงการ ASEAN-China Youth Caring and Sharing Programme ณ กรุงเทพฯ ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ ซึ่งเปิดโอกาสให้เยาวชนอาเซียนกับจีนได้พบปะ คุ้นเคย สร้างความเข้าใจ และพัฒนาเครือข่ายติดต่อ และความรู้สึกอยู่ในชุมชนร่วมกัน นอกจากนี้ อาเซียนควรร่วมมือกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนเพื่อเปิดโลกทัศน์ และเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนอาเซียน

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ