EU จะยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าไก่สดจากไทย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 11, 2012 11:06 —กระทรวงการต่างประเทศ

ตามที่สหภาพยุโรป (European Union — EU) มีมาตรการห้ามการนำเข้าสัตว์ปีกและเนื้อไก่สดแช่แข็งจากไทยตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ สืบเนื่องจากปัญหาเชื้อไวรัสไข้หวัดนก และอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะเนื้อสัตว์ปีกที่ผ่านกระบวนการแปรรูปแล้ว นั้น EU อยู่ระหว่างเสนอร่างกฎหมายเพื่ออนุญาตการนำเข้าสัตว์ปีก ซึ่งรวมถึงเนื้อไก่สดแช่แข็งจากไทย โดยคาดว่า กฎหมายดังกล่าวของ EU จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕

เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๕ ได้มีการประชุมคณะกรรมการด้านห่วงโซ่อาหารและสุขภาพสัตว์ของประเทศสมาชิก EU ซึ่งมีมติอนุญาตการนำเข้าสัตว์ปีก รวมถึงเนื้อไก่สดแช่แข็งจากไทย การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการเยือนประเทศไทยของคณะผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานอาหารและอนามัยสัตว์ (Food and Veterinary Office — FVO) กระทรวงสาธารณสุขและการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งได้เดินทางมาตรวจสอบและประเมินการควบคุมสุขภาพสัตว์ปีกในประเทศไทยเมื่อปี ๒๕๕๔ และลงความเห็นว่า การปรับปรุงการดำเนินการสำหรับการควบคุมอนามัยสัตว์ของไทย ซึ่งมีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานหลัก ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยก่อนหน้านี้ คณะผู้เชี่ยวชาญจาก FVO ได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อทำการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ๒ ครั้ง ในปี ๒๕๔๘ และปี ๒๕๕๒

ร่างกฎหมายของ EU ข้างต้นระบุให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ประเทศสมาชิก EU สามารถนำเข้า เนื้อสัตว์ปีก (poultry) และผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก (poultry products) ๔ ประเภท คือ

(๑) เนื้อสัตว์ปีก (meat of poultry)

(๒) เนื้อสัตว์ปีกประเภท ratites ซึ่งเลี้ยงในฟาร์ม อาทิ นกกระจอกเทศ

(๓) เนื้อสัตว์ปีกประเภท wild game-birds อาทิ ไก่ป่า นกป่า

(๔) ไข่ของสัตว์ปีก ซึ่งผู้ส่งออกจะต้องแสดงแผนการควบคุมเชื้อซัลโมแนลลาประกอบ

การอนุญาตการนำเข้าสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกของ EU ในครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกเนื้อไก่หมักเกลือไปยัง EU ได้อีกครั้งหนึ่ง โดยจะสามารถใช้ประโยชน์จากโควตาที่ไทยได้รับจัดสรร จาก EU จำนวน ๙๒,๖๑๐ ตัน ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ แต่ที่ผ่านมา ผู้ส่งออกไทยยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เนื่องจากมาตรการห้ามนำเข้าสัตว์ปีกสดจากไทยของ EU

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ