สุนทรพจน์ของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี “ทิศทางการพัฒนาความสัมพันธ์ของความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีนอย่างรอบด้าน” ณ โรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์จีน กรุงปักกิ่ง วันพุธที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๕ เวลา ๑๐.๐๐ — ๑๐.๔๐ น.

ข่าวต่างประเทศ Thursday April 19, 2012 15:56 —กระทรวงการต่างประเทศ

ท่านหลี จิ่นเทียน รองอธิการบดีโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์จีน

นักศึกษา และผู้มีเกียรติทุกท่าน

หนีห่าว สวัสดีค่ะ

ในวันนี้ ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญมาเยือนโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงชั้นสูงของจีน และที่ได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนทัศนะกับทุกท่าน ซึ่งล้วนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารสาธารณรัฐประชาชนจีนในฐานะผู้นำจีนรุ่นต่อ ๆ ไป หัวข้อที่ดิฉันจะมากล่าวในวันนี้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง มากกว่าสามทศวรรษ

อดีต : รากฐานที่มั่นคงแห่งความสัมพันธ์ไทย - จีน

ไทยกับจีนมีความสัมพันธ์และผูกพันกันมาอย่างใกล้ชิด นับแต่ครั้งโบราณกาล สมัยอาณาจักรสุโขทัยของไทยและราชวงศ์หยวนของจีน จากการค้าโดยเรือสำเภาซึ่งต่างมีผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจ และต่อมา ได้พัฒนาเป็นสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ทั้งทางด้านสายเลือด และขนบธรรมเนียมประเพณี การผสมผสานทางวัฒนธรรม สายสัมพันธ์นี้ ได้เป็นรากฐานอันลึกซึ้งของความเข้าใจ และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างไทยกับจีนมาตราบทุกวันนี้ดังคำกล่าวที่ว่า “ไทย - จีนมิใช่อื่นไกลคือพี่น้องกัน” ซึ่งดิฉันได้ยินมาตั้งแต่ยังเด็ก

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญระหว่างไทยและจีนคือ เมื่อ ๓๗ ปีที่แล้ว ฯพณฯ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทยกับ ฯพณฯ โจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีของจีน ได้ร่วมลงนามที่กรุงปักกิ่ง ในแถลงการณ์ร่วมเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีนอย่างเป็นทางการ ซึ่งนับเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของผู้นำของทั้งสองประเทศ โดยได้ช่วยให้การพัฒนาความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างมีระบบแบบแผน มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลยิ่งขึ้น บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน และการเคารพซึ่งกันและกัน

นับแต่นั้นเป็นต้นมา จีนถือเป็นเสาหลักสำคัญเสาหนึ่งของการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทย โดยเฉพาะในช่วงปลายสงครามเย็น ประเทศไทยและจีนต่างมีผลประโยชน์ร่วมกันด้านความมั่นคง นำไปสู่ความร่วมมือทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการแก้ปัญหากัมพูชา

ปัจจุบัน : ความสัมพันธ์ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและความท้าทาย

กระแสโลกาภิวัฒน์ ทำให้ปัญหาความมั่นคงมีความรุนแรง และกระทบต่อประเทศและประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ในวงกว้างขึ้น โดยทุกประเทศจะได้รับผลดี หรือเผชิญผลเสียทั่วหน้า พร้อม ๆ กัน จึงทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น

จีนก็ได้พัฒนาประเทศให้ทันสมัยเพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่าง ๆ ทั้งจากภายในและภายนอก ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ได้ส่งเสริมนโยบาย “สี่ทันสมัย” ตั้งแต่ทศวรรษที่ ๘๐ จนในปัจจุบัน จีนได้เติบใหญ่ขึ้นมากในทุกมิติ รวมทั้งได้มีบทบาทและรับผิดชอบในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้นอีกด้วย ความสำเร็จของการพัฒนา ทำให้เศรษฐกิจของจีนได้เติบโตเป็นอันดับที่ ๒ ของโลก และคาดว่าจะเป็นอันดับ ๑ ในอีกไม่นานนี้ ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของจีน ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจของโลกและของภูมิภาคเอเชียด้วย

ในขณะเดียวกัน ความเติบใหญ่ของจีน ก็เป็นสิ่งท้าทายที่จีนต้องทำให้ประเทศ ต่าง ๆ เห็นว่า “การเติบใหญ่ของจีน” เป็นไป “อย่างสันติ” ไม่ได้เป็นภัยต่อประเทศอื่น ซึ่งประเทศไทยเข้าใจจีนในเรื่องนี้และพร้อมให้ความร่วมมือในการส่งเสริมบทบาทของจีนในภูมิภาคผ่านกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งในกรอบอาเซียน+ ๑ อาเซียน +๓ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) และการประชุมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียและแปซิฟิก (APEC)

ในส่วนของไทย ก็กำลังปรับสมดุลภายใน ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ รวมทั้ง การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดิฉันมีความมั่นใจว่า ในฐานะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและการสนับสนุนของประชาชน รัฐบาลของดิฉันมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความปรองดองแห่งชาติเพื่อเสถียรภาพและสร้างความเชื่อมั่นในหมู่คนไทยและชาวต่างชาติ เพื่อให้ไทยสามารถก้าวไปข้างหน้าและบรรลุศักยภาพได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ประชาชนชาวจีนและรัฐบาลจีนยังเป็นกำลังใจ และให้ความช่วยเหลือแก่ชาวไทยในการฟื้นฟูประเทศจากมหาอุทกภัยเมื่อเดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาประเทศโดยได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระยะเวลา ๕ ปี มีมูลค่าประมาณ ๒ ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อป้องกันอทุกภัยเพื่อให้เสร็จก่อนฤดูน้ำหลาก อาทิ การก่อสร้างและซ่อมแซมเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ การปรับปรุงระบบพยากรณ์อากาศและอุทกภัยตลอดลุ่มน้ำ และจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำแห่งชาติ การขุดลอกคูคลองเป็นทางน้ำหลาก ซึ่งในการเดินทางมาเยือนจีนครั้งนี้ ดิฉันจะไปศึกษาการบริหารจัดการน้ำของจีนในวันพรุ่งนี้ด้วย เพื่อจะร่วมมือด้านนี้กับจีนอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากจีนมีเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญด้านนี้ที่ไทยจะเรียนรู้และนำไปใช้ประโยชน์ได้

ทั้งจีนและไทยมีการปรับสมดุลภายในประเทศตนเอง เพื่อการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศ และความสันติสุขของประชาชน ทั้งสองประเทศควรที่จะอาศัยความแข็งแกร่งภายในประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกันอย่างรอบด้านและ ที่อยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันในลักษณะทวีคูณแก่ทั้งสองประเทศ

อนาคต : ความร่วมมือที่ยั่งยืน

ดิฉันจึงขอตั้งประเด็นเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาความสัมพันธ์ความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของไทยและจีน เพื่อให้ท่านทั้งหลายช่วยกันพิจารณา ดังต่อไปนี้

๑. ความสัมพันธ์ไทยกับจีนมีพลวัตรอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๐ ไทยและจีนได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ในการเยือนจีนของดิฉัน ในครั้งนี้ สองฝ่ายได้ สถานปนาความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนความร่วมมือยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน อาทิ ความร่วมมือในการพัฒนารถไฟความเร็วสูง พลังงานหมุนเวียน และการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของไทยที่จีนสามารถตอบสนองได้โดยอาศัยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน

นอกจากนั้น สองฝ่ายต้องมีการหารือในเชิงยุทธศาสตร์อย่างใกล้ชิด โดยอาศัยความเป็นมิตรของไทยและจีน ตลอดระยะเวลา ๓๗ ปีที่ผ่านมาของความสัมพันธ์ไทย - จีน ดิฉันภูมิใจที่ มีมิตรของจีน หรือ “Friends of China” ในระดับสูง ซึ่งประกอบไปด้วยอดีตผู้นำประเทศ ดังนั้น สิ่งที่ดิฉันประสงค์จะเห็นในอนาคตอันใกล้ คือ การมีเครือข่ายมิตรของไทย หรือ “Friends of Thailand” ซึ่งดิฉันหวังว่า จะเห็นหลายท่านที่อยู่ในที่นี้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงและเป็นมิตรของไทยในอนาคตต่อไป

๒. ไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นหนึ่ง ในผู้ก่อตั้งสมาคมอาเซียน ในขณะที่จีน เป็นประเทศคู่เจรจาที่เก่าแก่และมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างประชาคมอาเซียน ดังนั้น ไทยและจีนควรใช้กรอบ ความร่วมมืออาเซียนในการจัดการกับความท้าทายร่วมกันของภูมิภาค อาทิ ความมั่นคงทางทะเล การปราบปรามโจรสลัด การปราบปรามการก่อการร้าย การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น ส่วนในกรอบอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงนั้น จีนมีบทบาทที่สำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะ การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศสมาชิก เช่น การแก้ไขปัญหาความยากจน การพัฒนาเครือข่ายคมนาคมตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ - ใต้ ตะวันออก-ตะวันตกอย่างครบวงจร ซึ่งช่วยลดต้นทุนทางด้านการค้า ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถในการผลิตและการลงทุนร่วมกัน ยังเป็น การกระจายรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ของสองฝ่ายด้วย ในการนี้ ดิฉันยินดีที่การก่อสร้างสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๔ ที่เชื่อมระหว่างจังหวัดเชียงรายกับเมืองห้วยทรายของลาว ซึ่งมีเส้นทางเชื่อมกับมณฑลยูนนานของจีน มีกำหนดจะแล้วเสร็จและเปิดใช้ในวันที่ ๑๒ เดือน ๑๒ ปี ค.ศ. ๒๐๑๒

๓. ความสัมพันธ์อาเซียนกับจีนจะก้าวสู่ทศวรรษที่ ๓ ในปีนี้ ไทยซึ่งจะรับหน้าที่เป็นประเทศผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับจีนในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๑๒ ไทยจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อสะท้อนถึงผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศทั้ง ๑๑ ประเทศ โดยจะยึดถือหลักการ ๓ ประการ คือ (๑) ความจริงใจ (๒) ความตรงไปตรงมา (๓) ความเคารพและเข้าใจซึ่งกันและกัน และไทยจะผลักดันความร่วมมือใน ๓ ประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิก คือ (๑) การใช้กรอบอาเซียน — จีน เป็นกลไกในการผลักดันให้เกิดประชาคมเอเชียตะวันออก (๒) การเชื่อมโยงระหว่างกัน และ (๓) การจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ในบรรยากาศที่เป็นมิตรและสร้างสรรค์ต่อกัน โดยจะให้ความสำคัญกับการประสานงานอย่างใกล้ชิด และการหารืออย่างสม่ำเสมอระหว่างกันในทุกระดับ

๔. จีนมียุทธศาสตร์มุ่งลงใต้ และดำเนินนโยบาย Go Global เพื่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในและย้ายฐานการผลิตออกไปนอกประเทศ ไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดี ที่จะเป็นศูนย์กลางและเป็นประตูเชื่อมโยงจีนกับอาเซียนทั้งหมด ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรและวัตถุดิบที่ใกล้กับจีนมากที่สุด และเป็นตลาดการค้าและการลงทุนของจีนขนาดใหญ่ถึง ๖๐๐ ล้านคน นอกจากนั้น ความตกลงด้านการค้า การค้าบริการและการลงทุนซึ่งมีผลบังคับใช้ระหว่างอาเซียนกับจีนได้เป็นกลไกส่งเสริมให้การค้าระหว่างอาเซียนกับจีนมีความคล่องตัวและเป็นประโยชน์ร่วมกันยิ่งขึ้น

๕. ประชาชนคือพลังขับเคลื่อนความสัมพันธ์ที่สำคัญยิ่งต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดิฉันจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างประชาชนและเยาวชน ในด้านการศึกษาและวัฒนธรรมต่อไป เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกันและเตรียมความพร้อมของประชาชนเพื่อก้าวไปสู่การรวมตัวเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก ในการนี้ การจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทยในจีน และศูนย์วัฒนธรรมจีนในไทย จะช่วยส่งเสริมความเข้าใจและไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประชาชนอย่างยั่งยืน

ท่านรองอธิการบดีโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์จีน

นักศึกษา และผู้มีเกียรติทุกท่าน

ในโอกาสที่มาเยือนโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์จีนในวันนี้ ดิฉันขอชื่นชมในความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางและแนวนโยบายแก่รัฐบาลจีนในการบริหารและพัฒนาประเทศ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นผลสำเร็จ ส่งผลให้จีนเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวไกล มีการพัฒนาประเทศและการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สร้างประโยชน์สุขให้กับชาวจีน และส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศ

สุดท้ายนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านทั้งหลายจะร่วมมือกับดิฉันในการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย — จีนในยุคใหม่ที่เราจะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านเพื่อประเทศชาติและประชาชนของเราทั้งสอง ตลอดจน เพื่อเสถียรภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคและประชาคมโลกโดยรวมสืบไป

ขอบคุณค่ะ

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ