ในระหว่างวันที่ ๒๖ — ๒๗ เมษายน ๒๕๕๕ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเดินทางเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน—สหภาพยุโรป ครั้งที่ ๑๙ ณ บันดาร์ เสรี เบกาวัน ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ทั้งนี้ การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน—สหภาพยุโรปนี้ จัดขึ้นทุก ๒ ปี โดยการประชุมครั้งที่ ๑๘ มีขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๓ ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน
การประชุมในปลายเดือนเมษายน ศกนี้ เจ้าชายโมฮาเหม็ด โบลเกียห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าบรูไนดารุสาซาม จะเป็นประธานการประชุมร่วมกับบารอนเนสแคทเธอรีน แอชตัน (Baroness Catherine Ashton) ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งการเข้าร่วมประชุมและการเดินทางเยือนประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบารอนเนสแอชตันเป็นครั้งแรกในครั้งนี้ แสดงถึงเจตนารมณ์และความประสงค์ที่สหภาพยุโรปจะเสริมสร้างความสัมพันธ์กับอาเซียนให้ลึกซึ้งและเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีรัฐมนตรีต่างประเทศซึ่งเป็นผู้แทนระดับสูงของสมาชิกสหภาพยุโรป เข้าร่วมด้วย จึงนับเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญในความสัมพันธ์อาเซียน—สหภาพยุโรป
วัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ คือ การกำหนดทิศทาง การส่งเสริมความร่วมมือของการเป็นหุ้นส่วนที่เพิ่มพูนในอนาคต และการติดตามและทบทวนความร่วมมือที่ผ่านมา โดยที่ประชุมจะรับรองเอกสารแผนปฏิบัติการบันดาร์เสรีเบกาวันเพื่อส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนที่เพิ่มพูนระหว่างอาเซียน—สหภาพยุโรป (ค.ศ. ๒๐๑๓ - ๒๐๑๗) ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์การดำเนินความร่วมมือในระยะอีก ๕ ปีข้างหน้า ต่อจากแผนปฏิบัติการของปฏิญญานูเร็มเบิร์ก ซึ่งได้รับการรับรองเมื่อปี ๒๕๕๐ และจะสิ้นสุดลงในปี ๒๕๕๕ นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและสหภาพยุโรปจะหารือกันในประเด็นปัญหาในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน อาทิ พัฒนาการในภูมิภาคอาเซียนและสหภาพยุโรป การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาค ได้แก่ การภาคยานุวัติสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation — TAC) ของสหภาพยุโรป และการเร่งรัดการหารือการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน—สหภาพยุโรป รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ สถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินโลก และโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกซึ่งมีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง
ในส่วนของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการฯ จะกล่าวนำในวาระเกี่ยวกับความท้าทายต่อประเด็นความมั่นคงรูปแบบดั้งเดิม (Traditional Security Challenges) ทั้งนี้ ไทยยึดมั่นที่จะร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ และสหภาพยุโรป ในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการเป็นประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘
ทั้งนี้ อาเซียนและสหภาพยุโรปได้สถาปนาความสัมพันธ์ในระดับคู่เจรจาอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ และนับเป็นกลุ่มประเทศที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียนมายาวนานถึง ๓๕ ปีในปีนี้
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--