ในโอกาสเยือนประเทศบรูไนดารุสซาลามเพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน-สหภาพยุโรป ครั้งที่ ๑๙ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดี ฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ (His Majesty Sultan Haji Hassanal Bolkiah Mu'izzaddin Waddaulah) สุลตานแห่งบรูไนฯ พร้อมด้วยหัวหน้าคณะผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนและสหภาพยุโรป รวม ๓๗ ประเทศ
นอกจากนี้ ระหว่างการประชุมฯ รัฐมนตรีว่าการฯ ยังได้มีการหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีต่างประเทศ ของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป จำนวนทั้งสิ้น ๘ ประเทศ ได้แก่ (๑) นายฌอง อัสเซลบอร์น (Mr. Jean Asselborn) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลักเซมเบิร์ก (๒) นายเอ็ดการส์ รินคีวิชส์ (Mr. Edgars Rinkevics) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของลัตเวีย (๓) นางอไซเต ซไคซกิรีเท ลิเอชเคียเน (Mrs. Asta Skaisgiryte Lrauskiene) ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศลิทัวเนีย (๔) นายวิลเลียม เฮก (Mr. William Hague) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร (๕) นายนิโคไล มลาเดนอฟ (Mr. Nickolay Mladenov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบัลแกเรีย (๖) นายจิอูลิโอ เตรซิ (Mr. Giulio Terzi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี (๗) นางลูซินดา เครตัน (Mrs. Lucinda Creighton) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการยุโรปของไอร์แลนด์ และ (๘) นายอูรมาส ไปป์ (Mr. Urmas Paet) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเอสโตเนีย
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญ ๆ ที่ได้มีการหารือกับ ๘ ประเทศข้างต้น ได้แก่ การส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน การติดตามและเร่งรัดการจัดการประชุมกลไกหารือร่วมด้านการเมือง ระหว่างสองฝ่าย การเร่งรัดจัดทำความตกลงที่ยังค้างคา ความร่วมมือในการบริหารจัดการภัยพิบัติ พัฒนาการ ในเมียนมาร์ การรวมตัวของอาเซียน ความร่วมมือในเวทีสหประชาชาติ รวมทั้งการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ยังได้ใช้โอกาสดังกล่าวชี้แจงและสร้างความมั่นใจให้กับประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ ทางการเมือง เศรษฐกิจ และภัยพิบัติในไทยด้วย
นอกจากนี้ ในส่วนของการพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร อิตาลี และเอสโตเนีย นั้น รัฐมนตรีว่าการฯ ได้หารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับฝ่ายสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับการเตรียมการสำหรับ การเยือนกรุงลอนดอนของนายกรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๕ เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก กับอิตาลี สองฝ่ายได้เน้นความร่วมมือในการส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และผลักดันการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างธุรกิจขนาดกลางละขนาดย่อม (SME) ไทย-อิตาลี ในโอกาสแรก และกับเอสโตเนีย ไทยและเอสโตเนียได้ร่วมลงนามความตกลงการยกเว้นการตรวจลงตราซึ่งกันและกันสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางเข้า-ออก และพำนักเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในดินแดนของแต่ละฝ่าย ไม่เกิน ๙๐ วัน
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--