ระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๗ เมษายน ๒๕๕๕ ที่กรุงเวียนนา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จะทรงปฏิบัติพระภารกิจในฐานะองค์ประธานการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและ ความยุติธรรมทางอาญาหรือ CCPCJ สมัยที่ ๒๑ ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่สามัญประจำปีที่มีความสำคัญ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือกันในเรื่องต่าง ๆ ถึง ๑๑ เรื่องและหัวข้อหลักของการประชุมในปีนี้ คือ ความรุนแรงต่อผู้ย้าย ถิ่นฐาน แรงงานต่างด้าว และครอบครัว (Violence against migrants, migrant workers and their families) ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือหัวข้อหลักดังกล่าวในวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๕ โดยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า พัชรกิติยาภาทรงเป็นผู้ดำเนินการประชุม (moderator) และมีผู้ร่วมอภิปรายจากประเทศไทยซึ่งได้รับการ รับรองให้เป็นตัวแทนกลุ่มภูมิภาคเอเชีย คือ ศาสตราจารย์วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในช่วงที่ผ่านมา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงปฏิบัติพระภารกิจในฐานะองค์ประธาน CCPCJ สมัยที่ ๒๑ หลายประการ โดยพระภารกิจสำคัญประกอบด้วย
๑) เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๕ พระเจ้าหลานเธอฯ ทรงร่วมสังเกตการณ์การประชุมหารืออย่างไม่เป็น ทางการก่อนสมัยประชุม (Informal Pre-Session Consultations) ของคณะกรรมาธิการยาเสพติด (Commission on Narcotic Drugs — CND) สมัยที่ ๕๕ โดยในการประชุมดังกล่าวมีการนำเสนอร่างข้อมติร่วมระหว่างไทย และเปรูเรื่อง การติดตามผลของข้อเสนอการจัดสัมมนาและประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยเรื่องการพัฒนาทางเลือกอย่างยั่งยืน (Follow-up on the proposal to organize an International Seminar Workshop on Sustainable Alternative Development) นำเสนอผลสำเร็จของการประชุมดังกล่าวซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๔ ที่จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงรายซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการพัฒนาทางเลือก ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จ พระศรีนครินทราบรมราชชนนีและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทดแทนการปลูกพืชยาเสพติด
๒) เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๕ พระเจ้าหลานเธอฯ ทรงเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุม CND สมัยที่ ๕๕ และต่อมาในวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๕ พระเจ้าหลานเธอฯ ทรงเข้าร่วมพิธีฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี ของการลงนาม อนุสัญญาฝิ่น (๑๙๑๒ International Opium Convention) ในโอกาสดังกล่าว มีการกล่าวถึงความสำคัญและ วิวัฒนาการของการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศในด้านการควบคุมยาเสพติดที่มีจุดเริ่มต้นจากอนุสัญญาฝิ่นซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีตั้งแต่ต้น และปลัดกระทรวงยุติธรรมในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้กล่าวถ้อย แถลงแสดงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการควบคุมยาเสพติดและความสำเร็จของการดำเนินโครงการพัฒนาทางเลือกตามแนวพระราชดำริฯ
นอกจากนั้น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเป็นประธานและกล่าวคำเปิดงานนิทรรศการ โครงการพัฒนาทาง เลือกที่ยั่งยืนของไทย ร่วมกับนาย Yury Fedotov ผู้อำนวยการบริหารของสำนักงานว่า ด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime - UNODC) โดยทรงเน้นว่า โครงการพัฒนาทางเลือกตามแนวพระราชดำริฯ ไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ไขปัญหาการปลูกพืชยาเสพติด แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ด้วย ในเวลาต่อมา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์ เจ้าพัชรกิติยาภาทรงร่วมงาน และกล่าวคำเปิดงานกิจกรรมคู่ขนานเรื่องวิถีชีวิตทางเลือก: ประสบการณ์และความ ท้าทายของการควบคุมยาเสพติดโดยเน้นการพัฒนาเพื่อลดการปลูกพืชเสพติด (Alternative Livelihoods: Experiences and challenges of reducing illicit crops cultivation through development oriented drug control) ซึ่งจัดโดย UNODC ร่วมกับประเทศไทย เปรู โคลอมเบีย อัฟกานิสถาน และปากีสถาน
๓) เมื่อวันที่ ๑๙ และ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๕ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเป็นประธาน การประชุมคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (Extended Bureau) ของ CCPCJ ครั้งที่ ๒ และการประชุมระหว่างสมัย (Inter-sessional Meeting) ของ CCPCJ ครั้งที่ ๑ ตามลำดับ ซึ่งที่ประชุม ทั้งสองวาระได้หารือเพื่อเตรียมการด้านสารัตถะสำหรับการประชุม CCPCJ สมัยที่ ๒๑ และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประเด็นด้านบริหาร
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ยังทรงพบปะหารือกับบุคคลต่าง ๆ เพื่อทำความรู้จัก และประสานท่าทีในเรื่องที่มี ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทรงหารือกับเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรของ ประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับร่างข้อมติที่ เสนอต่อที่ประชุม CCPCJ และทรงหารือกับสมาชิกเครือข่าย พันธมิตร องค์กรพัฒนาสังคมด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ประจำกรุงเวียนนา (Vienna NGO Alliance on Crime Prevention and Criminal Justice) ซึ่งในโอกาสนี้ ทรงแจ้งให้สมาชิกฯ ทราบถึง โครงการใน พระดำริเพื่อช่วยฝึกอบรมผู้ต้องขังที่ถูกจำคุกเป็นเวลานานหรือผู้ต้องขังโทษประหารให้เป็นนักเขียน ซึ่งมีส่วนช่วยสภาพจิตใจของผู้ต้อง ขังให้รู้สึกผ่อนคลายและลดความเครียด รวมทั้งหารือเกี่ยวกับความร่วมมือ ระหว่างไทยกับองค์กรพัฒนา สังคมในกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--