รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแถลงข่าวการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม World Economic Forum on East Asia ปี ๒๕๕๕ ที่ประเทศไทย

ข่าวต่างประเทศ Tuesday May 22, 2012 11:17 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เรื่องการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกว่าด้วยเอเชียตะวันออก หรือ World Economic Forum (WEF) on East Asia ปี ๒๕๕๕ ที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ ๓๐พฤษภาคม — ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

๑. รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการจัดการประชุมในครั้งนี้ด้วยเห็นว่าจะเป็นโอกาสอันดีในการสร้างความเชื่อมั่นของไทยทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ต่อผู้นำและภาคเอกชนชั้นนำที่จะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว อีกทั้ง ยังเป็นโอกาสที่จะขยายธุรกิจ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ตลอดจนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประเทศไทยผ่านสื่อชั้นนำระดับโลก

๒. การประชุมในครั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมาณ ๗๐๐ คน ในปัจจุบัน มีผู้นำที่ตอบรับเข้าร่วมการประชุมอย่างเป็นทางการแล้วคือ ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ประธานาธิบดีเมียนมาร์ นายกรัฐมนตรีบาห์เรน และนายกรัฐมนตรี สปป. ลาว นอกจากนี้ ยังมีผู้เข้าร่วมในระดับรัฐมนตรีตอบรับเป็นจำนวนมาก สำหรับผู้แทนระดับสูงขององค์การระหว่างประเทศที่ตอบรับการเข้าร่วมแล้ว อาทิ นาย Pascal Lamy ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) นาย Rajat M. Nag ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) และนาย Naoyuki Shinohara รองกรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในส่วนของนักวิชาการระดับโลกได้แก่ นาย Joseph Stiglitz นอกจากนี้ ในส่วนของภาคเอกชนรายสำคัญที่ตอบรับการเข้าร่วมแล้ว อาทิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท Hewlett-Packard ประธานบริษัท Fujitsu และประธานบริหารบริษัท Fortis Healthcare เป็นต้น

๓. การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมของไทยในครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยในปัจจุบัน ภาคเอกชนไทยที่เป็นสมาชิก WEF มีจำนวนทั้งหมด ๑๖ บริษัท แบ่งเป็นบริษัทที่เป็นสมาชิกเดิม ๘ บริษัท ได้แก่ (๑) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (๒) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (๓) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (๔) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (๕) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (๖) บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) (๗) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ (๘) บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก WEF เพิ่มขึ้นอีก ๘ บริษัท ได้แก่ (๑) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (๒) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (๓) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (๔) บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (๕) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) (๖) บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (๗) บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และ (๘) บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน)

๔. ในการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกครั้งนี้มีกำหนดการการประชุมที่สำคัญคือ ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕ จะมีการจัดกิจกรรมย่อยก่อนการประชุม หรือที่เรียกว่า Private Sessions ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้พิจารณาจัดกิจกรรมในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ ทั้งหมด ๕ สาขา ได้แก่ ๑) การท่องเที่ยว ๒) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ๓) การสาธารณสุข ๔) การเกษตร และ ๕) พลังงาน จากนั้นในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ จะมีพิธีเปิดการประชุมโดยนายกรัฐมนตรี และจะมีงานเลี้ยงอาหารค่ำซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพ ที่หอประชุมกองทัพเรือ ต่อเนื่องด้วยในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ ซึ่งจะเป็นการประชุมในเรื่องต่าง ๆ จนปิดการประชุม นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมเพิ่มเติม เช่น การจัดกำหนดการคู่สมรส การจัดกิจกรรม Young Global Leaders ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของนักธุรกิจรุ่นใหม่และกิจกรรมเสริมอื่น ๆ ด้วย

๕. สำหรับด้านสารัตถะ หัวข้อหลักของการประชุมในครั้งนี้คือ การกำหนดอนาคตภูมิภาคโดยการเชื่อมโยง หรือ “Shaping the Region’s Future through Connectivity” ซึ่งมี ๓ หัวข้อย่อย ได้แก่ (๑) การทบทวนรูปแบบของภูมิภาคสำหรับโลกยุคใหม่ หรือ Rethinking Regional Models for a New Global Context (๒) การรับมือกับความเสี่ยงในภูมิภาค หรือ Responding to a Region@Risk และ (๓) การบรรลุความเชื่อมโยงในภูมิภาค หรือ Realizing Regional Connectivity โดยหัวข้อของการประชุมนี้ เป็นการต่อยอดจากการประชุมประจำปีของ WEF ณ เมืองดาวอส เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในหัวข้อ “Great Transformation : Shaping New Models” โดยมุ่งเน้นประเด็นเรื่องการเพิ่มความเชื่อมโยงระดับภูมิภาคที่จะนำไปสู่รูปแบบการเจริญเติบโตของภูมิภาค (regional model) ที่มีความยั่งยืนและเท่าเทียมมากขึ้น รวมทั้งหารือเรื่องการรับมือประเด็นความท้าทายต่าง ๆ เช่น ภัยพิบัติ เป็นต้น

๖. ทั้งนี้ จากการประชุมคณะกรรมการระดับชาติของไทยเพื่อเตรียมการประชุมดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ซึ่งมีกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยประสานงานหลัก และมีอีกหลายหน่วยงานให้การสนับสนุน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรับผิดชอบในเรื่องสารัตถะ สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับผิดชอบด้านความปลอดภัย รวมถึงภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุน ทำให้มีความมั่นใจว่าการจัดการประชุมครั้งนี้จะยิ่งใหญ่และสมบูรณ์

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ