การแถลงข่าวร่วมเรื่องการจัดประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกว่าด้วยเอเชียตะวันออก (World Economic Forum on East Asia) ปี ๒๕๕๕ ที่ประเทศไทย

ข่าวต่างประเทศ Tuesday May 29, 2012 11:15 —กระทรวงการต่างประเทศ

ถ้อยแถลง ของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการแถลงข่าวร่วม เรื่องการจัดประชุม World Economic Forum on East Asia ปี ๒๕๕๕ ที่ประเทศไทย วันจันทร์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๑.๐๐ — ๑๒.๐๐ น. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล

สวัสดี

คุณ Sushant Rao ผู้อำนวยการอาวุโส (หัวหน้าฝ่ายเอเชีย) เวทีเศรษฐกิจโลก

สื่อมวลชนผู้มีเกียรติ

ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีทุกท่าน

รัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกว่าด้วยเอเชียตะวันออก หรือ World Economic Forum on East Asia ครั้งที่ ๒๑ ที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ ๓๐ พฤษภาคม - ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ ภายใต้หัวข้อ “การกำหนดอนาคตภูมิภาคโดยการเชื่อมโยง หรือ Shaping the Region’s Future through Connectivity”

โดยการพัฒนาการอย่างมีพลวัตรและโอกาสที่หลากหลายของภูมิภาคเอเชียตะวันออกสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ร่วม แสดงวิสัยทัศน์และแบ่งปันประสบการณ์ของไทยเมื่อครั้งเดินทางไปเข้าร่วมประชุมประจำปีของ WEF ที่เมืองดาวอส ซึ่งมีหัวข้อหลักของการประชุมคือ การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่: การกำหนดรูปแบบใหม่ (The Great Transformation: Shaping New Models) ดังนั้น เพื่อเป็นการต่อยอดการประชุมประจำปีที่ได้มีการหารือกันที่เมืองดาวอส และเพื่อให้สอดรับกับพัฒนาการในปัจจุบันที่สำคัญของภูมิภาค อาทิ การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ การเพิ่มขึ้นของอิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่ในภูมิภาค อาทิ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตลอดจนความคืบหน้าของการเชื่อมโยงของประเทศสมาชิกลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้หัวข้อ “การกำหนดอนาคตของภูมิภาคโดยการเชื่อมโยง” เป็นสิ่งที่เหมาะสมและสะท้อนถึงภาวะในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ประชาคมโลกกำลังให้ความสนใจกับการรวมตัวของประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ ซึ่งน่าจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกให้ก้าวหน้า ความหลากหลายของการเชื่อมโยง นับตั้งแต่เครือข่ายคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการติดต่อระหว่างประชาชนต่อประชาชนล้วนเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาค และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคในตลาดโลก อย่างไรก็ดี ยังมีความท้าทายอื่น ๆ อาทิ ความผันผวนทางการเงิน การบริหารจัดการภัยพิบัติ ความมั่นคงทางด้านอาหาร ความมั่นคงพลังงาน และอื่น ๆ ที่ต้องเตรียมการรับมือ การประชุมนี้ซึ่งเป็นเวทีที่มีการรวมตัวของผู้เข้าร่วมสำคัญระดับโลก ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ จะมาร่วมกันหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อกำหนดอนาคตของภูมิภาค และแนวทางที่เหมาะสมในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ เหล่านี้

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่การประชุมได้จัดในประเทศไทย รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการจัดการประชุม และได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมความพร้อมของการประชุมทั้งด้านพิธีการและสารัตถะ โดยในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม จะมีการจัดกิจกรรมย่อยก่อนการประชุม หรือที่เรียกว่า Private Sessions ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้พิจารณาจัดกิจกรรมในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ ทั้งหมด ๕ สาขา ได้แก่ ๑) การท่องเที่ยว ๒) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ๓) การสาธารณสุข ๔) การเกษตร และ ๕) พลังงาน ซึ่งจะมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะเข้าร่วมในแต่ละกิจกรรมย่อย นอกจากนี้ ในช่วงเช้าของวันที่ ๓๑ พฤษภาคม นายกรัฐมนตรีจะร่วมกล่าวเปิดงาน CNBC Power Breakfast และต่อมาในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีจะร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุม และต่อด้วยการเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้เข้าร่วมประชุมที่หอประชุมกองทัพเรือ ซึ่งผมหวังว่าผู้เข้าร่วมประชุมจะมีความประทับใจกับอาหารไทยและเพลิดเพลินกับการแสดงทางวัฒนธรรมที่เราได้จัดเตรียม นอกจากนี้ ในช่วงค่ำยังได้มีการจัดเตรียม การไหลเรือไฟ ล่องบนแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับชม

การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมของไทยในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นการแสดงถึงความคืบหน้าและความมีเสถียรภาพของไทยทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นการก่อประโยชน์โดยรวมของภูมิภาค ผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันที่อาจมีขึ้นทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนที่มาเข้าร่วม ทั้งนี้ ตามที่ได้รับทราบว่า มีการตอบรับเป็นอย่างดีในการเข้าร่วมการประชุม การประชุมในครั้งนี้จะเป็นเวทีที่สำคัญในการกำหนดอนาคตภูมิภาค ข้อเสนอแนะของการประชุมจะสะท้อนออกไปให้ทั่วโลกได้รับรู้ และย้ำบทบาทที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกในการผลักดันการเจริญเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของโลก ตลอดจนความสามารถในการรับมือกับความท้าทายที่ภูมิภาคและทั่วโลกกำลังเผชิญ

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ