นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงในงาน CNBC Power Breakfast ในวันแรกของการประชุม World Economic Forum on East Asia

ข่าวต่างประเทศ Friday June 1, 2012 13:11 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ นายเสข วรรณเมธี รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า เมื่อเช้าวันเดียวกัน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงเปิดงาน CNBC Power Breakfast ในฐานะแขกเกียรติยศ ตามคำเชิญของสำนักข่าว CNBC ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นในวันแรกของการประชุม World Economic Forum on East Asia และมีผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐและเอกชนจากประเทศต่างๆ กว่า ๕๐ ประเทศเข้าร่วมประมาณ ๑๒๕ คน โดยภายหลังการกล่าวถ้อยแถลงเปิดงาน CNBC ได้ดำเนินการอภิปรายต่อในหัวข้อ “Asia’s New Reality: Growth vs Inflation” โดยได้เชิญนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นหนึ่งในผู้อภิปรายรับเชิญ สาระสำคัญของถ้อยแถลงเปิดงานของนายกรัฐมนตรีและการอภิปรายในงานดังกล่าวสรุปได้ ดังนี้

๑. ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม CNBC Power Breakfast และเห็นว่า กิจกรรมดังกล่าวจะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้นำภาครัฐและธุรกิจได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขสิ่งท้าทายต่าง ๆ ที่ภูมิภาคกำลังเผชิญ หัวข้อการหารือเรื่อง “Asia’s New Reality: Growth vs Inflation” เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงความจริงที่ว่ารัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคกำลังดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อก็ยังเป็นข้อกังวลอยู่ ซึ่งประเทศไทยกำลังหาความสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการรักษาเสถียรภาพทางราคา โดยเศรษฐกิจได้ฟื้นตัวอย่างมากจากเหตุการณ์อุทกภัยและน่าจะเติบโตได้ระหว่างร้อยละ ๕.๕ — ๖.๕ ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อในปีนี้น่าจะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เนื่องจากแรงกดดันจากสถานการณ์ตลาดสินค้าเกษตรและราคาน้ำมันโลกได้ลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความต้องการของตลาดภายในประเทศและการใช้งบประมาณในส่วนของการลงทุนสาธารณะให้ทันตามกำหนด โดยหลังจากเผชิญกับเหตุการณ์อุทกภัยที่รุนแรง ประเทศไทยอยู่ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มีความต้านทานต่อภัยธรรมชาติมากขึ้น และจะใช้งบประมาณจำนวน ๑๑.๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อวัตถุประสงค์นี้

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปเพื่อบรรลุเป้าหมายของการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยมีรากฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงอยู่แล้ว และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันรวมทั้งดำเนินมาตรการส่งเสริมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง (inclusive growth) นอกจากให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตภายในประเทศแล้ว ประเทศไทยจะหาแนวทางเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค และเพิ่มศักยภาพในการเจริญเติบโตของภูมิภาคโดยรวมด้วย ประเทศไทยจึงมีมุ่งส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงและแนวพื้นที่เศรษฐกิจ (economic corridor) เพื่อสร้างและกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง

สำหรับสถานการณ์ทางการเมือง นายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า ประเทศไทยมีความมั่นคงมากขึ้นและรัฐบาลได้รับการสนับสนุนอย่างชัดเจนจากประชาชนในการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว จากรากฐานทางเศรษฐกิจและสถาบันด้านประชาธิปไตยที่มั่นคง ประเทศไทยจึงอยู่ในฐานะที่พร้อมให้โอกาสใหม่ ๆ แก่ภาคธุรกิจทั้งไทยและต่างชาติ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยและภูมิภาคมีความมั่งคั่งอย่างต่อเนื่อง

๒. การอภิปรายในหัวข้อ “Asia’s New Reality: Growth vs Inflation”

ผู้ดำเนินการอภิปราย คือ นาย Martin Soong โฆษกของ CNBC โดยมีผู้อภิปรายรับเชิญ ได้แก่ (๑) รองนายกรัฐมนตรีกิตติรัตน์ฯ (๒) นาย Pak Gita Wirjawan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อินโดนีเซีย (๓) นาย Rajat Nag ผู้อำนวยการบริหารของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank -ADB) และ (๔) นาย Victor Chu ประธานบริษัท First Eastern Investment Group เมืองฮ่องกง โดยรองนายกรัฐมนตรีกิตติรัตน์ฯ ได้ย้ำถึงความสำคัญของการเจริญเติบโตที่สมดุลและยั่งยืน (sustainable growth) ซึ่งเป็นนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาล โดยเน้นการกระจายรายได้สู่ประชาชนและการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในอัตราที่มากพอที่จะเป็นแรงจูงใจให้แรงงานมุ่งพัฒนาศักยภาพของตน อีกทั้งผลักดันให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญมากขึ้นกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะแรงงาน นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ยังกล่าวถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ไม่ควรจำกัดอยู่ในเรื่องของการส่งออกและนำเข้าเท่านั้น

นาย Rajat Nag ยังกล่าวเสริมด้วยว่า นอกเหนือจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแล้ว การพัฒนาการศึกษายังเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งภาคเอกชนควรมีบทบาทนำในการลงทุนดังกล่าว ขณะที่ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการลงทุน รวมทั้งเห็นว่าการลงทุนในลักษณะ การร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership) ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และย้ำความสำคัญของการบูรณาการในภูมิภาคเอเชีย

ในส่วนนาย Victor Chu กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการกระจายแหล่งทุนในประเทศจีน ขณะที่นาย Pak Gita Wirjawan ได้กล่าวถึงการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย โดยเน้นการลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับประเด็นเรื่องการเชื่อมโยงในภูมิภาค นาย Wirjawan เชื่อมั่นว่าจะมีความก้าวหน้า อย่างไรก็ดี แต่ละประเทศต้องส่งเสริมการเชื่อมโยงภายในประเทศของตนด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่อินโดนีเซียกำลังผลักดัน

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ