เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ในระหว่างการเยือนออสเตรเลียอย่างเป็นทางการ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ประชุมหารือกับคณะนักธุรกิจไทยที่ร่วมเดินทางมากับคณะ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมด้วย ในส่วนของภาคเอกชน มีผู้เข้าร่วมจาก ๕ สาขา ได้แก่ ๑) เกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร และอาหาร ๒) พลังงาน ๓) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ๔) การศึกษา และ ๕) โลจิสติกส์ บริการ ตลาดทุน และสาขาอื่นที่มีศักยภาพ โดยกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักประสานการนำคณะนักธุรกิจร่วมการเยือนครั้งนี้
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการเยือนครั้งนี้ว่า เป็นการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนไทย-ออสเตรเลียให้แน่นแฟ้นและส่งเสริมประโยชน์ระหว่างกันยิ่งขึ้น และได้เน้นย้ำถึงกิจกรรมสำคัญของการเยือนเพื่อประชาสัมพันธ์ "นโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก" ในต่างประเทศของรัฐบาลไทย ซึ่งจัดครั้งนี้เป็นครั้งแรก และว่ารัฐบาลหวังจะใช้โอกาสดังกล่าวเสริมจุดแข็งของการที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าอาหารที่ครบวงจรตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพของธุรกิจด้านสินค้าอาหารและเกษตรของไทย นอกจากนี้ ได้หารือกับฝ่ายออสเตรเลียเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย โดยทั้งสองฝ่ายต่างตั้งเป้าการค้ารวมให้เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๐ ต่อปี อีกทั้งจะหาลู่ทางส่งเสริมให้ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของชาวออสเตรเลีย และเพิ่มประโยชน์จากการที่มีคนไทยเดินทางมาศึกษาที่ออสเตรเลียปีละไม่ต่ำกว่า ๒๐,๐๐๐ คน โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถด้านการใช้ภาษาอังกฤษของแรงงานไทย ในการเยือนครั้งนี้ ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการศึกษาระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของทั้งสองฝ่าย ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะกระชับความร่วมมือด้านการค้นคว้า พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานทดแทนกับฝ่ายออสเตรเลีย
ในการนี้ ภาคเอกชนได้ชื่นชมต่อความสำเร็จของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายเชิงรุกด้านการต่างประเทศตลอดการเยือนต่างประเทศที่ผ่านมาของนายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพของภาคเอกชนไทยในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลในการยึดออสเตรเลียเป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อนำนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกไปปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จในประเทศอื่น ๆ ต่อไป
นอกจากนี้ ยังเห็นพ้องกันถึงศักยภาพของออสเตรเลียในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและร่วมทุน เพื่อพัฒนาพลังงานทดแทนในไทย อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ การสังเคราะห์น้ำมันจากสาหร่าย และการผลิตไฟฟ้าจากคลื่นลมทะเล (tidal wave) ตลอดจนศักยภาพของไทยและออสเตรเลียในการร่วมทุนพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบและเหมืองแร่ ซึ่งปัจจุบันมูลค่าการลงทุนของภาคเอกชนไทยสาขาพลังงานไม่ต่ำกว่า ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและการขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังมีประสบการณ์ที่ยาวนานและเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมการเกษตรที่ก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ต่อไทย อาทิ ในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล
ในส่วนของศักยภาพในสาขาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะไทยมีจุดแข็งด้านการบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ ปัจจุบันมีความนิยมการให้บริการรักษาสุขภาพ ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูซึ่งต้องใช้เวลาในการรักษาจะมีส่วนช่วยส่งเสริมธุรกิจสาขาอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนความร่วมมือเพื่อนำเทคโนโลยีสีเชียวในการผลิตพลาสติกชีวภาพจากมันสำปะหลังมาใช้ในไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเพิ่มมูลค่าสินค้ามันสำปะหลังของไทยด้วย
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้ข้อมูลว่า ได้มีการหยิบยกปัญหาของภาคเอกชนในการประกอบธุรกิจกับออสเตรเลียในประเด็นหารือกับฝ่ายรัฐบาลออสเตรเลียแล้ว อาทิ การขยายระยะเวลาวีซ่าให้คนไทยที่เข้ามาทำงานในออสเตรเลียให้สามารถพำนักในประเทศได้นานขึ้น การทบทวนปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน เป็นต้น
ภายหลังการหารือกับนายกรัฐมนตรี ภาคเอกชนได้เข้าร่วมงาน Thai Food Week ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญเพื่อประชาสัมพันธ์ในช่วงนายกรัฐมนตรีเยือนออสเตรเลียอย่างเป็นทางการในครั้งนี้
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--