รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงเกี่ยวกับกรณีการเยือนไทยของนางออง ซาน ซูจี และการยกเลิกการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีเมียนมาร์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 6, 2012 10:43 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๕ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกรณีการเยือนไทยของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ฝ่ายค้านของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ระหว่างวันที่ ๒๙ พฤษภาคม — ๓ มิถุนายน ๒๕๕๕ และการยกเลิกการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของ พล.อ. เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ระหว่างวันที่ ๔-๕ มีนาคม ๒๕๕๕ ดังนี้

๑. การเดินทางมาเข้าร่วมประชุม World Economic Forum (WEF) ของนางออง ซาน ซูจี ในไทย นั้น เป็นไปตามคำเชิญของ WEF โดยไม่ได้ปรึกษาหารือหรือแจ้งรัฐบาลไทยล่วงหน้า

๒. หลังจากที่ทราบเรื่องการเชิญนางออง ซาน ซูจี มาร่วมประชุมฯ กระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งความไม่พอใจให้แก่ WEF ได้รับทราบและขอให้ WEF หารือเกี่ยวกับกำหนดการต่าง ๆ ของนางออง ซาน ซูจี ในระหว่างอยู่ที่ไทยให้ฝ่ายไทยได้ทราบและพิจารณาก่อน

๓. ในขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง และอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก แจ้งให้กระทรวงการต่างประเทศเมียนมาร์และเอกอัครราชทูตเมียนมาร์ประจำประเทศไทยได้ทราบ ซึ่งฝ่ายเมียนมาร์รับทราบโดยมิได้แสดงท่าทีไม่พอใจใด ๆ

๔. นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้หารือและแจ้งกำหนดการของนางออง ซาน ซูจีระหว่างพำนักอยู่ในไทยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเมียนมาร์ ซึ่งมาเข้าร่วมประชุม WEF แทนประธานาธิบดีเมียนมาร์ได้ทราบ ซึ่งฝ่ายเมียนมาร์ก็มิได้มีท่าทีขัดข้องใด ๆ

๕. ในขณะเดียวกัน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งฝ่ายเลขานุการของนางออง ซาน ซูจี ไม่ให้ดำเนินกิจกรรมใด ๆ ทางการเมืองที่จะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเมียนมาร์ และได้สั่งการให้ประสานหน่วยงานของไทยให้ติดตามกิจกรรมของนางอองซานซูจีในไทยอย่างใกล้ชิด

๖. กิจกรรมของนางออง ซาน ซูจี ในไทย นอกจากการประชุม WEF ได้แก่ การเดินทางไปเยี่ยมแรงงานเมียนมาร์ ที่จังหวัดสมุทรสาคร การพบหารือกับนายเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และการไปเยี่ยมผู้หนีภัยการสู้รบที่จังหวัดตาก ได้จำกัดอยู่เพียงเรื่องมนุษยธรรม ได้แก่ เรื่องแรงงานและผู้หนีภัย ไม่ได้มีส่วนใดเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งทางการไทยได้ควบคุมไม่ให้นางออง ซาน ซูจี ใช้ไทยในทางการเมือง อาทิ การที่ทางการไทยไม่ให้นางพบหารือกับผู้นำชนกลุ่มน้อย และไม่ให้มีการจัดการชุมนุนทางการเมือง (political rally) ในระหว่างไปเยี่ยมผู้หนีภัยที่จังหวัดตาก

๗. ทางการไทยได้ให้การดูแลนางออง ซาน ซูจี ในลักษณะเป็น public figure คนหนึ่งเหมือนผู้ได้รับเชิญจาก WEF ที่ไม่ใช่ผู้แทนรัฐบาลคนหนึ่ง ไม่ได้ถือเป็นผู้นำของเมียนมาร์ โดยจัดตำรวจดูแลความปลอดภัยตามปกติ ส่วนการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ฝ่ายเลขานุการของนางออง ซาน ซูจี เป็นผู้ดำเนินการเอง

๘. จากหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาร์ที่แจ้งเรื่องการเลื่อนการเยือนไทยของประธานาธิบดีเมียนมาร์ ก็มิได้มีส่วนใดแสดงความไม่พอใจ เพียงอ้างเหตุผลในประเทศ (due to developments at home) และหวังว่าจะเดินทางมาเยือนได้ในเวลาทั้งสองฝ่ายสะดวก

๙. บ่ายวันนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้โทรศัพท์หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาร์ถึงเรื่องดังกล่าว ได้รับแจ้งว่า การยกเลิกการเยือนไทยของประธานาธิบดีเมียนมาร์ สืบเนื่องจากปัญหาภายในประเทศและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเยือนไทยของนางออง ซาน ซูจี แต่อย่างใด ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ มีกำหนดการเยือนเมียนมาร์อย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ๒๕๕๕ เพื่อหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาร์เกี่ยวกับประเด็นความมั่นคง ปัญหาภัยธรรมชาติบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ตลอดจนความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน

๑๐. ต่อข้อซักถามของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการที่นางออง ซาน ซูจี ประกาศจะนำแรงงานเมียนมาร์กลับประเทศ นั้น รัฐมนตรีว่าการฯ แสดงความยินดีหากแรงงานเมียนมาร์จะได้กลับประเทศ เพราะหมายถึงความสงบสุขและความปรองดองได้กลับสู่เมียนมาร์ และที่ผ่านมา ไทยได้มีการอบรมฝีมือแรงงานเมียนมาร์ในศูนย์พักพิงชั่วคราว จังหวัดตาก ซึ่งเป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านและเอื้ออาทรต่อกัน โดยที่ผ่านมา ไทยไม่เคยมีการขับไล่หรือผลักดันผู้หนีภัยจากการสู้รบชาวเมียนมาร์ให้เดินทางกลับ โดยยึดหลักการการเดินทางกลับประเทศของตนด้วยความสมัครใจ

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ