เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๕ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการให้จัดตั้ง กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการต่างประเทศ และให้กระทรวงการต่างประเทศรับไปยกร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยให้ประสานงานกับสำนักงาน ก.พ.ร. เกี่ยวกับการกำหนดโครงสร้างอำนาจหน้าที่ เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว และเสนอคณะรัฐมนตรีโดยด่วน เพื่อดำเนินกระบวนการที่เกี่ยวข้อง
กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนว่า การจัดตั้ง “กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Department of International Cooperation)” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักที่จะกำกับดูแลภาพรวม นโยบาย และกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธีการใช้ความช่วยเหลือและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยผลักดัน และสนองนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลไทย โดยมีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ
๑. ส่งเสริมการพัฒนาของประเทศในภูมิภาค ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความมั่นคงและความมั่งคั่งของไทย โดยเฉพาะเมื่อประเทศในภูมิภาคกำลังจะรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ หากประเทศในภูมิภาคมีระดับการพัฒนาที่ดีขึ้นและใกล้เคียงกัน ปัญหาข้ามชาติต่าง ๆ อาทิ การค้ามนุษย์ แรงงานข้ามชาติ ผิดกฎหมาย ยาเสพติด และอาชญากรรมข้ามชาติอื่น ๆ ที่คุกคามความมั่นคงของประเทศไทยในปัจจุบันก็จะลดลงขณะเดียวกัน ระดับการพัฒนาประเทศที่สูงขึ้นและขนาดเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในภูมิภาคจะเป็นโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทยในประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นด้วย
๒. ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศจะเป็นเครื่องมือทางการทูต (soft diplomacy) ของไทยในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ ให้มีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยจะช่วยเพิ่มความไว้เนื้อเชื่อใจ ความรู้สึกผูกพันกับประเทศไทยในระดับประชาชน และความคุ้นเคยกับแนวคิด แนวปฏิบัติและเทคโนโลยีของไทย ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเพิ่มพูนความร่วมมือทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมกับประเทศเหล่านั้น เป็นการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในเวทีระหว่างประเทศ
๓. การที่ไทยมีหน่วยงานกลางดูภาพรวมด้านความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศเช่นเดียวกับนานาอารยะประเทศอย่างเป็นระบบและครอบคลุม จะสะท้อนความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงของรัฐบาลไทยที่จะเสริมสร้างสถานะของไทยให้กลายเป็นประเทศผู้ให้ (donor country) ที่มีนโยบายก้าวหน้าและพร้อมที่จะมีบทบาทสำคัญในระดับโลก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทยในสายตาของรัฐบาลต่างประเทศและภาคธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลกอีกด้วย
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--