ระหว่างวันที่ ๑๙ — ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ นายพิรุณ ลายสมิต ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เดินทางไปประชุมความร่วมมือทางวิชาการไทย-ลาว ครั้งที่ ๑๘ ณ แขวงเชียงขวาง สปป.ลาว โดยมีท่านพวงแก้ว ลังสี หัวหน้ากรมเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศลาว เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนลาว ผู้เข้าร่วมประชุมฝ่ายลาวประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า และกระทรวงการต่างประเทศลาว ผู้แทนฝ่ายไทยประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยการอาชีพเซกา กรมเอเชียตะวันออก และ สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์
การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนผลการดำเนินงานความร่วมมือในปี ๒๕๕๔ - ๒๕๕๕ และหารือแผนงานที่จะดำเนินงานร่วมกันในปี ๒๕๕๕ — ๒๕๕๖ สรุปได้ดังนี้
๑. ในรอบปี ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้อนุมัติทุนการศึกษาระดับปริญญาโทให้แก่เจ้าหน้าที่จาก สปป.ลาว รวมจำนวน ๗๑ ทุน (กรอบทวิภาคี ๓๙ ทุน ภายใต้โครงการ ๒๘ คน กรอบ ACMECS จำนวน ๒ ทุน และหลักสูตรนานาชาติ ๒ ทุน) และทุนฝึกอบรม/ดูงาน ประมาณ ๓๐๐ คน และอยู่ระหว่างการศึกษา จำนวน ๑๖๖ ทุน มีโครงการที่ดำเนินงานต่อเนื่องจำนวน ๒๖ โครงการ โดยมีโครงการที่จะสิ้นสุดระยะเวลาในปี ๒๕๕๕ จำนวน ๗ โครงการ
๒. ปัจจุบันรัฐบาลไทยมีความร่วมมือกับรัฐบาล สปป.ลาว โดยพิจารณาความสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางวิชาการทั้งในกรอบทวิภาคีและกรอบความร่วมมือต่างๆ เช่น ACMECS รวมทั้งขีดความสามารถของไทย และงบประมาณที่จะสามารถดำเนินการได้ โดยสาขาที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญคือ สาขาเกษตร การศึกษา และสาธารณสุข ปัจจุบันการดำเนินงานความร่วมมือทางวิชาการเป็นในลักษณะแผนงานโครงการมากขึ้น โดยเริ่มจากสาขาการศึกษา ซึ่งรัฐบาลไทยมีแผนงานในระดับมหาวิทยาลัย และอาชีวศึกษา เป็นแผนงานระยะเวลา ๓ ปี ขณะนี้เป็นการดำเนินการภายใต้แผนงานดังกล่าวเป็นปีสุดท้าย ซึ่งมีผลสำเร็จอย่างมาก โดยจะเห็นได้จาก
๒.๑ มีการพัฒนาหลักสูตรศึกษาระดับปริญญาตรีด้านพยาบาล ณ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งเดิมรัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือในการยกระดับหลักสูตรพยาบาลในระดับประกาศนียบัตรให้เป็นระดับปริญญาตรี โดยการเปิดหลักสูตรด้านพยาบาลระดับปริญญาตรี จะทำให้ สปป.ลาว บรรลุ MDGs ในการลดอัตราการตายของแม่และเด็กได้
๒.๒ หลักสูตรการปรุงแต่งกสิกรรม ของมหาวิทยาลัยสุพานุวง ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลไทยได้พัฒนาหลักสูตรข้างต้นให้สามารถเปิดรับนักศึกษาได้ในเดือนกันยายน ๒๐๑๑ ทั้งนี้ หลักสูตรนี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลลาวในการส่งเสริมให้ประชาชนมีอาชีพเสริมและลดปัญหาความยากจนด้วย
๒.๓ ในด้านอาชีวศึกษา รัฐบาลไทยได้ให้ความร่วมมือในการยกระดับครูอาจารย์ของวิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทน์ โรงเรียนเทคนิควิชาชีพแขวงหลวงพระบาง และโรงเรียนเทคนิคกสิกรรมดงคำช้าง รวมทั้งการให้การสนับสนุนอุปกรณ์ และปรับปรุงโรงฝึก เพื่อวิทยาลัยและโรงเรียนทั้ง ๓ แห่งจะได้ผลิตแรงงานที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาแรงงานของลาวได้
สำหรับแผนงานที่จะให้ความร่วมมือกับ สปป.ลาวในปี ๒๕๕๕ — ๒๕๕๖ นั้น รัฐบาลไทยยังคงเน้นที่จะให้ความร่วมมือในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนา สปป.ลาว ที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๗ ที่มีเป้าหมายที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ตอบสนองต่อความต้องการ ในการพัฒนาประเทศลาว และสอดคล้องกับนโยบาย ๔ บุกทะลุของลาว โดย สพร. จะได้หารือกับ ฝ่ายลาวเพื่อจัดทำแผนงานความร่วมมือระยะยาวด้านการศึกษาในระยะที่ ๒ และแผนงานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ระยะเวลา ๓ ปี ต่อไป
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--