สรุปผลการเยือนออสเตรเลียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๕

ข่าวต่างประเทศ Tuesday June 19, 2012 15:51 —กระทรวงการต่างประเทศ

ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๕ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะเดินทางเยือนออสเตรเลียอย่างเป็นทางการ โดยการเดินทางเยือนออสเตรเลียครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองครบรอบ ๖๐ ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - ออสเตรเลีย ซึ่งนับเป็นเวลา ๘ ปีจากปี ๒๕๔๗ ที่ยังไม่มีผู้นำไทยเยือนออสเตรเลียอย่างเป็นทางการ ถือได้ว่าเป็นการกระชับความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือระหว่างกันในลักษณะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้มากขึ้นและครอบคลุมทุกมิติ

ภารกิจสำคัญระหว่างการเยือนของนายกรัฐมนตรี ได้แก่

พบหารือกับบุคคลสำคัญของออสเตรเลีย ได้แก่ (๑) นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย (๒) รัฐมนตรีออสเตรเลียในการหารือเต็มคณะ (๓) ผู้นำฝ่ายค้านออสเตรเลีย (๔) ผู้สำเร็จราชการเครือรัฐออสเตรเลียและ (๕) รองมุขมนตรีแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์

การกล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสต่าง ๆ ได้แก่ (๑) งานเลี้ยงอาหารกลางวันซึ่งนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและคณะผู้แทนไทย (๒) งานเลี้ยงอาหารค่ำ Thai Night with the Prime Minister (๓) งานครัวไทยสู่ครัวโลก

ภารกิจอื่น ๆ ได้แก่ (๑) การดำเนินการส่งเสริมโครงการครัวไทยสู่โลกและเยี่ยมชม Thai Town ในนครซิดนีย์ (๒) การปลูกต้นไม้ในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี กรุงแคนเบอร์รา (๓) พิธีวางพวงมาลา ณ War Memorial (๔) การพบปะกับนักธุรกิจชั้นนำของออสเตรเลีย (๕) การให้สัมภาษณ์นาย Jim Middleton ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ Australia Network

สรุปผลการเยือนออสเตรเลียที่สำคัญ

  • การลงนามบันทึกความเข้าใจ ๒ ฉบับ ได้แก่ (๑) ความร่วมมือด้านการศึกษา ลงนามระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของไทยกับออสเตรเลีย (๒) โครงการแลกเปลี่ยนสมาชิกรัฐสภาไทย - ออสเตรเลีย ลงนามระหว่างสถาบันพระปกเกล้ากับ Australia Political Exchange Council และการจัดทำคำแถลงการณ์ร่วมเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการเยือนออสเตรเลียอย่างเป็นทางการ
  • การส่งเสริมการค้าการลงทุนไทย - ออสเตรเลีย ฝ่ายออสเตรเลียรับทราบถึงสถานการณ์และเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจไทย และมีความมั่นใจที่จะขยายการค้าการลงทุนกับไทยมากขึ้น โดยฝ่ายไทยได้ขอให้ออสเตรเลียอำนวยความสะดวกนักลงทุนของไทยในออสเตรเลีย เช่น ลดระยะเวลาการพิจารณาออกใบอนุญาตทำงาน และการตรวจลงตรา ขยายเวลาการพำนักในออสเตรเลีย ตลอดจนพิจารณาตรวจลงตราประเภท visa on arrival ให้แก่คนไทยโดยเฉพาะแก่นักธุรกิจที่ลงทุนในออสเตรเลีย ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบริษัทไทยในธุรกิจพลังงานลงทุนในออสเตรเลียรวมกันเป็นมูลค่ามากกว่า ๕ พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งฝ่ายออสเตรเลียรับที่จะนำเรื่องนี้ไปพิจารณาต่อไป
  • ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย - ออสเตรเลีย(TAFTA) ไทยตั้งเป้าหมายให้ปริมาณการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๐ ภายในเวลา ๕ ปี และได้หารือกับออสเตรเลียถึงการแก้ไขอุปสรรคทางการค้าภายใต้ TAFTA โดยได้เรียกร้องให้ออสเตรเลียพิจารณานำเข้าไก่สดและกุ้งสดจากไทย ในขณะที่ออสเตรเลียเรียกร้องให้ไทยยกเลิกการเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ขนาดเครื่องยนต์ตั้งแต่ ๒,๕๐๐ ซีซี เร่งลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบเหล็ก และยกเลิกมาตรการปกป้องพิเศษสินค้าบางรายการ เช่น เครื่องในวัว ไขมันเนย เนยแข็งสด ส้มแมนดาริน องุ่น และเพิ่มโควต้าสินค้าบางรายการ เช่น เนื้อวัว เนยแข็งอื่นๆ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้บรรจุเรื่องการแก้ปัญหาอุปสรรคด้านการค้าในการประชุม TAFTA JC ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ ๓ ในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม
                - ครัวไทยสู่โลก ไทยและออสเตรเลียในฐานะประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารรายใหญ่จะเพิ่มความร่วมมือระหว่างกันด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยที่อาหารไทยได้รับความนิยมในออสเตรเลียอย่างมาก ไทยประสงค์จะดำเนินโครงการครัวไทยสู่โลกในออสเตรเลีย เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยไปยังออสเตรเลีย และฝ่ายไทยขอให้   ฝ่ายออสเตรเลียพิจารณากำหนดเขตบริเวณถนนแคมพ์เบลในนครซิดนีย์ ซึ่งเป็นถนนที่มีร้านค้าขายสินค้าไทยและร้านอาหารไทยจำนวนมาก และได้รับความนิยมอย่างสูงให้เป็นเขต “ไทยทาวน์” อย่างเป็นทางการ รวมทั้งมีการจัดทำป้ายชื่อที่เหมาะสม (เหมือนประตูหน้า Chinatown) ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นใกล้ชิดระหว่างกันในระดับประชาชนไทย - ออสเตรเลีย ยังจะเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากที่ต่าง ๆ อันจะช่วยส่งเสริม        การท่องเที่ยวในนครซิดนีย์อีกด้วย
  • การผ่อนปรนการวัดระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษของแรงงานไทย เพื่อรองรับการขยายตัวของร้านค้าและร้านอาหารไทยในออสเตรเลีย ไทยขอให้ออสเตรเลียผ่อนปรนการวัดระดับความสามารถด้านภาษาของ พ่อครัวแม่ครัวไทย เพื่อให้พ่อครัวแม่ครัวไทย เพื่อให้พ่อครัวแม่ครัวไทยสามารถเดินทางเข้าออสเตรเลียเพื่อทำงานในร้านอาหารได้ อันจะเป็นการรักษาคุณภาพและรสชาติอาหารที่เป็นไทยแท้ นอกจากนี้ แรงงานมีฝีมือที่มีคุณภาพและศักยภาพของไทย ซึ่งเป็นที่ต้องการของออสเตรเลีย และตลาดโลกในขณะนี้ ยังมีอุปสรรคในด้านทักษะภาษาอังกฤษ จึงขอให้ฝ่ายออสเตรเลียพิจารณาผ่อนปรนการวัดระดับความสามารถด้านภาษาอังกฤษให้แก่แรงงานฝีมือของไทย โดยอาจแบ่งการวัดระดับทักษะด้านภาษาตามประเภทของงานและความจำเป็นของการใช้ภาษาอังกฤษ
  • ความร่วมมือด้านการศึกษา ฝ่ายออสเตรเลียแสดงความยินดีที่ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลีย โดยมีนักท่องเที่ยวออสเตรเลียเดินทางไปท่องเที่ยวในไทยกว่าปีละ ๘๕๐,๐๐๐ คน และ มีนักเรียนไทยเดินทางมาศึกษาต่อในออสเตรเลียจำนวนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันถึงความจำเป็นที่จะผลักดันให้มีนักศึกษาออสเตรเลียเดินทางไปศึกษาต่อในไทยเพิ่มขึ้น โดยฝ่ายออสเตรเลียจะพิจารณาจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาออสเตรเลียไปเรียนต่อในไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชนให้มากขึ้น
  • ความร่วมมือด้านพลังงาน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีความร่วมมือเพื่อความมั่นคงทางพลังงานระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแลกเปลี่ยนข้อมูล/นักวิจัยด้านพลังงานทดแทน ซึ่งออสเตรเลียมีความเชี่ยวชาญ เกี่ยวกับพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีด้านพลังงานทางเลือก อาทิ การสกัดน้ำมันจากสาหร่าย การผลิตไฟฟ้าจากแสงแดด และพลังงานลม เป็นต้น ตลอดจนการเรียนรู้ best practices ของฝ่ายออสเตรเลีย
  • ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีความร่วมมือ วทน. ทั้งด้านการค้นคว้าวิจัยและการฝึกอบรมระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีที่ออสเตรเลียมี ความเชี่ยวชาญและจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศของไทย เช่นการเกษตร เหมืองแร่ พลังงาน บริการและท่องเที่ยว

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ