เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนก่อนการประชุมเตรียมการกับภาคเอกชน ในการร่วมคณะเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสาธารณรัฐฝรั่งเศสของนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ ๑๗ — ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ โดยการประชุมเตรียมการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อสอบถามความเห็นจากภาคเอกชนเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรค ในการทำธุรกิจระหว่างไทย - เยอรมนี และไทย - ฝรั่งเศส และจะได้นำข้อเสนอแนะที่ได้รับไปเรียนเสนอให้นายกรัฐมนตรีทราบ เพื่อที่นายกรัฐมนตรีจะได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นหารือกับฝ่ายเยอรมนีและฝ่ายฝรั่งเศส เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจระหว่างกัน
นอกจากนี้ ยังจะได้สำรวจอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ของไทย ที่มีความร่วมมือกับเยอรมนีและฝรั่งเศส เพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับการเชิญกลุ่มธุรกิจ/อุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศเข้าร่วมพบปะหารือทางธุรกิจกับกลุ่มธุรกิจ/อุตสาหกรรมของไทยในสาขาที่มีความเกี่ยวข้องกันต่อไป ซึ่งจะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์และส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ตลอดจนเป็นโอกาสในการกระชับความร่วมมือในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบัน ไทยให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีสีเขียว (Green Economy-Technology) ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย
สำหรับธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่น่าสนใจระหว่างไทย — เยอรมนี คือ พลังงานสะอาด การเกษตรและอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ การศึกษา การแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ โดยฝ่ายไทยสนใจเทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพ และ Green Packaging ของเยอรมนี ซึ่งเป็นการผลิตพลาสติกจากสิ่งมีชีวิต สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ระหว่างการเดินทางเยือนเยอรมนี นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเดินทางไปเยี่ยมชมหมู่บ้านพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน และสภาช่างหัตถกรรม ซึ่งเป็นตัวอย่างศูนย์การศึกษาที่สอนอาชีวศึกษาควบคู่กับการฝึกงานจริงในสถานประกอบการ สำหรับในส่วนของธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่น่าสนใจระหว่างไทย — ฝรั่งเศส คือ สินค้าดีไซน์ อาทิ เสื้อผ้า สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ ของชำร่วยและเครื่องแต่งกาย เป็นต้น
ทั้งนี้ เยอรมนีเป็นคู่ค้าอับดับที่ ๑ ของไทยในสหภาพยุโรป ในปี ๒๕๕๔ มีมูลค่าการค้าระหว่างกันรวม ๙,๑๕๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในส่วนของฝรั่งเศสเป็นคู่ค้าอับดับที่ ๔ ของไทยในสหภาพยุโรป ในปี ๒๕๕๔ มีมูลค่าการค้าระหว่างกันรวม ๔,๐๖๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--